สวรส. โชว์นวัตกรรมวิจัย “เครื่องตรวจหาพาร์กินสัน” ใช้ง่าย แค่ 10 นาทีรู้ผล
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ นักวิจัยเครือข่าย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สังกัดศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มความเคลื่อนไหวผิดปกติ แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาเครื่องมือช่วยวินิจฉัย คัดกรองและติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน กล่าวว่า “พาร์กินสัน” เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่พบได้มากกว่าร้อยละ 50 ในผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ในกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุของโรคอย่างชัดเจน ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของแพทย์ผู้ตรวจรักษา โดยมีการตรวจประเมินทางคลินิกร่วมกับการใช้แบบประเมินอาการที่เรียกว่า Unified Parkinson’s Disease Rating Scale (UPDRS) ที่ใช้ได้กับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วเท่านั้น ทำให้ UPDRS ถูกจำกัดใช้อยู่ในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ทั้งยังพบว่ามีความคลาดเคลื่อนจากการให้คะแนนที่ไม่ตรงกันของผู้ประเมินอีกด้วย
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ อธิบายว่า โรคพาร์กินสันนั้นมีอาการสั่นที่จำเพาะ ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาเครื่องมือในการตรวจวัดและวิเคราะห์อาการสั่นของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันขึ้น ประกอบด้วยชุดสัญญาณการเคลื่อนไหวที่สามารถบันทึก วิเคราะห์ แสดงผลสัญญาณในเชิงเวลา ความถี่การสั่น และค่าการสั่นในแกนต่างๆ ได้อย่างชัดเจน อุปกรณ์ดังกล่าวที่พัฒนาขึ้นมีลักษณะที่ใช้งานได้ง่ายทำได้โดยบุคลากรทางการแพทย์โดยทั่วไปที่อาจไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ และใช้เวลาการตรวจที่สั้น เสร็จภายใน 10 นาที และมีความปลอดภัยกับผู้ใช้ สามารถถ่ายโอนผลข้อมูลจากการวัดไปยังระบบจัดเก็บได้ง่าย สำหรับผลจากการทดสอบเครื่องมือฯ พบว่า สามารถใช้ประเมินลักษณะอาการสั่นได้อย่างแม่นยำ สามารถช่วยแพทย์ผู้ทำการรักษาประเมินว่าอาการสั่นของผู้ป่วยนั้นมีความเป็นไปได้ของโรคพาร์กินสันนั้นมากน้อยเท่าไหร่ และยังใช้ประเมินอาการทางการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆร่วมกับแบบประเมินมาตรฐาน UPDRS ได้อีกด้วย ช่วยลดความคลาดเคลื่อนของการให้คะแนน โดยการตรวจวัดให้ผลถูกต้อง รวดเร็ว ช่วยให้การวินิจฉัยมีความแม่นยำขึ้น และไม่ทำให้หลงทางในการรักษา ทั้งนี้ เครื่องมือดังกล่าวได้มีการจดสิทธิบัตรในชื่อ “ระบบคัดแยกโรคการเคลื่อนไหวผิดปกติจากอาการสั่น”♣ |