Central Regionnewsroyal project

องคมนตรีตรวจเยี่ยมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริใน จ.ราชบุรี

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.30 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยนางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลป่าหวาย อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี รับฟังรายงานสรุปข้อมูลโครงการจากผู้แทนกรมชลประทาน

 

โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลาฯ เป็นโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อจัดหาแหล่งน้ำให้แก่ราษฎร กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2531 เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ความจุที่ระดับเก็บกักประมาณ 1,100,000 ลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานด้วยระบบท่อเหล็กและท่อซีเมนต์ใยหิน ความยาวรวมประมาณ 8.15 กิโลเมตร พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 3,000 ไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์ประมาณ 308 ครัวเรือน 1,235 คน ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ทุเรียน มะม่วง พืชผักสวนครัวชนิดต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากประโยชน์ทางด้านการเกษตร ยังเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตประปาของหมู่บ้าน รวมทั้งเป็นแหล่งประมงในชุมชนอีกด้วย สำหรับในด้านการบริหารจัดการน้ำมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเมื่อปี 2553 ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิก 107 คน มีการบริหารจัดการน้ำให้แก่กลุ่มได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนดูแลบำรุงรักษาท่อส่งน้ำและอ่างเก็บน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด


โอกาสนี้ องคมนตรีพบปะพูดคุยกับราษฎรกลุ่มผู้ใช้น้ำ พร้อมกับมอบปัจจัยการผลิตให้แก่ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ จากนั้นปล่อยปลาลงในอ่างเก็บน้ำเพื่อขยายพันธุ์เป็นแหล่งอาหารโปรตีนแก่ชาวบ้านในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงต่อไป

ต่อมาคณะฯ เดินทางไปเยี่ยมชมพื้นที่การเกษตรของนางนิตยา เชื้อดี เกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลาฯ นางนิตยา ฯ ซึ่งเดิมเคยทำงานที่โรงงานผลิตรองเท้า ในจังหวัดสมุทรปราการ แต่เมื่อมีโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งศาลาฯ จึงได้กลับมาทำเกษตรปลูกพืชผักแบบผสมผสานหมุนเวียนตลอดทั้งปี เช่น มะเขือ บวบ พริก ถั่วฝักยาว โดยใช้พื้นที่ทำการเกษตรจำนวน 22 ไร่ ผลผลิตมีพ่อค้าแม่ค้ารับซื้อถึงหมู่บ้าน สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างสม่ำเสมอ และเมื่อหักต้นทุนแล้วมีเงินเหลือเก็บประมาณ 100,000 บาท/ปี ปัจจุบันแบ่งพื้นที่ในการปลูกไม้ล้อมเพิ่มเติมอีกด้วย

ขอบคุณกองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.