Agriculture NewsFeatured Storiesnews

บทความพิเศษ เรื่อง ส่งเสริมการสร้างผลไม้อัตลักษณ์

ทุเรียนหมอนทอง มะม่วงน้ำดอกไม้ มะยงชิด และขนุน เป็นผลไม้ที่มีความโดดเด่นใน9จังหวัดของภาคตะวันออก โดยถูกนำมาจัดแสดงในงานเปิดฤดูกาลผลไม้อัตลักษณ์ต้นแบบโครงการประชาสัมพันธ์เปิดฤดูกาลและผลไม้อัตลักษณ์สู่การเชื่อมโยงงานส่งเสริมการเกษตร เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ณ สวนนวลทองจันท์ หมู่ที่ 1 ตำบลมาบไพ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี จัดโดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จ.ระยอง

ผลไม้เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของผลไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จำนวน 16 ชนิด ดังนี้ จังหวัดจันทบุรี ได้แก่ ทุเรียนจันท์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบางคล้า มะพร้าวน้ำหอมบางคล้า จังหวัดชลบุรี ได้แก่ สับปะรดศรีราชา ขนุนหนองเหียงชลบุรี จังหวัดตราด ได้แก่ สับปะรดตราดสีทอง ทุเรียนชะนีเกาะช้าง จังหวัดนครนายก ได้แก่ มะยงชิดนครนายก มะปรางหวานนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี ได้แก่ ทุเรียนปราจีน ส้มโอปราจีน จังหวัดระยอง ได้แก่ สับปะรดทองระยอง ทุเรียนหมอนทองระยอง จังหวัดสมุทรปราการ ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้คุ้งบางกระเจ้า มะม่วงน้ำดอกไม้สมุทรปราการ และจังหวัดสระแก้ว ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศ ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มผ่านอัตลักษณ์ของพื้นที่ โดยต่อยอดจากสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และทรัพยากรในพื้นที่ให้ประสบความสำเร็จ สามารถผลักดันและส่งเสริมให้ผลไม้อัตลักษณ์มีความหลากหลาย โดดเด่นในเรื่องรสชาติ คุณภาพและมีเรื่องราวเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าผลไม้อัตลักษณ์อย่างยั่งยืน นำไปสู่การสร้างความมั่นคงของเกษตรกร

ด้านนางอุบล มากอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า  นอกจากการส่งเสริมไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ กรมส่งเสริมการเกษตรยังส่งเสริมผลไม้พื้นถิ่นที่เป็นผลไม้ในกลุ่มรองซึ่งมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และได้รับความนิยมสูงไม่แพ้กัน จึงให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับพื้นที่ และเกษตรกรคัดเลือกพืชในพื้นที่มาเป็นผลไม้อัตลักษณ์ ซึ่งมีเรื่องราวแหล่งกำเนิดสินค้า (story) ที่แตกต่างจากแหล่งอื่นๆ มีความโดดเด่น มีศักยภาพ และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ปัจจุบันมีผลไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของไม้ผลอัตลักษณ์พื้นที่ 9  จังหวัดภาคตะวันออกเพิ่มมากขึ้น

ทางด้านนายสุเทพ นพพนธ์ เกษตรกรต้นแบบจังหวัดจันทบุรี เป็นเจ้าของสวนนวลทองจันท์ ที่ได้เข้าร่วมโครงการ 76จังหวัด 76โมเดล(Best Practice)การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เปิดเผยว่า การทำทุเรียนพันธุ์นวลทองจันท์ เป็นความสำเร็จจากการใช้ภูมิปัญญาปรับปรุงพันธุ์ทุเรียนในท้องถิ่นจนประสบความสำเร็จ โดยลักษณะเด่นของทุเรียนพันธุ์นี้ คือการที่ผลผลิตออกตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ก่อนที่ผลไม้ชนิดอื่นและทุเรียนสายพันธุ์อื่นจะเก็บเกี่ยวได้ เนื้อมีสีสวยเหลืองทอง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื้อสัมผัสละเอียด รสชาติหวานละมุนลิ้นคล้ายคัสตาร์ด มีกลิ่นเฉพาะตัวหอมอ่อนๆ เหมาะสมกับการส่งออก ซึ่งปัจจุบันสามารถส่งออกทุเรียนพันธุ์นวลทองจันท์ไปขายต่างประเทศได้ราคากิโลกรัมละ 300บาท สามารถสร้างรายได้ให้กับสวนนับสิบนับร้อยล้านบาท

ผลไม้พื้นถิ่นในกลุ่มรอง ที่มีรสชาติและคุณภาพยอดเยี่ยม อีกทั้งยังมีเรื่องเล่าที่มาของผลไม้เหล่านี้ เป็นอัตลักษณ์ที่ไม่เพียงแต่จะสร้างให้เกิดความรับรู้ถึงเรื่องราวของผลไม้ไทยที่โดดเด่น ยังสามารถเจาะตลาดไม่ว่าจะเป็นตลาดออนไซท์ในและต่างประเทศ ตลาดออนไลน์ที่เข้าถึงลูกค้าทุกครัวเรือน เป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่จะพัฒนาคุณภาพผลไม้ไทยและอาชีพเกษตรกรรมไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน.

บทความโดย สุวินา เอี่ยมสุทธา