Happiness from developmentnews

สุขจากการพัฒนา ตอน สุขจากการสืบทอดสวนผลไม้

ทุเรียนนวลทองจันท์ หนึ่งในผลไม้อัตลักษณ์ของจังหวัดจันทบุรี ที่นายสุเทพ นพพันธ์ ปรับปรุงพันธุ์จากการผสมระหว่างทุเรียนพันธุ์หมอนทองกับพวงมณี และได้รับการยอมรับเข้าร่วมเผยแพร่ในงานเปิดฤดูกาลผลไม้อัตลักษณ์สู่การเชื่อมโยงงานส่งเสริมการเกษตร ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 10เมษายน พ.ศ.2567 ณ สวนนวลทองจันท์

การสร้างแบรนด์ทุเรียนนวลทองจันท์เป็นสิ่งสำคัญ สุเทพจึงตั้งชื่อสวนทุเรียนของตนว่า “สวนนวลทองจันท์” ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลมาบไพ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี โดยสุเทพได้สืบทอดอาชีพการทำสวนผลไม้จากบิดา ที่เริ่มต้นจากการทำสวนยางพารา ทำสวนส้มเขียวหวาน ทำสวนผลไม้ผสมผสาน เช่น เงาะ มังคุด ทุเรียน แต่ยุคนั้นต้องนำผลไม้ไปขายถึงสี่แยกมหานาคในกรุงเทพมหานคร ต้องรอให้พ่อค้าขายสินค้าก่อนจนหมดจึงจะได้รับเงิน

เมื่อการปรับปรุงทุเรียนพันธุ์ชะนีไม่ได้รับการตอบรับ สุเทพได้ใช้วิกฤตนี้มาพิจารณาคัดเลือกผสมข้ามพันธุ์ โดยหยิบเอาจุดเด่นของพันธุ์หมอนทอง มาผสมกับพันธุ์ท้องถิ่น คือพวงมณี

“นวลทองจันท์” ชื่อพันธุ์ทุเรียนชนิดนี้ นายประจักษ์ สุวรรณภักดี ได้ตั้งชื่อให้ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เป็นของดีเมืองจันทบุรี โดย “นวล”เป็นชื่อภรรยาของสุเทพ “ทอง”มาจากทุเรียนพันธุ์หมอนทอง “จันท์”มาจากถิ่นกำเนิดคือจังหวัดจันทบุรีแห่งนี้ โดยได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)  และสิทธิบัตรพันธุ์พืชแล้ว

สุเทพและภรรยา มีบุตรสาว2คน คนหนึ่งมีอาชีพแพทย์ ขณะที่ลูกสาวคนเล็กได้ศึกษาจบด้านการเกษตร และสืบทอดอาชีพการทำเกษตรกรรมโดยมุ่งการนำผลผลิตผลไม้ในสวนออกไปจำหน่ายในช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะการส่งออก สามารถเปิดตลาดการค้าส่งทุเรียนพันธุ์นวลทองจันท์นี้ไปยังประเทศจีนได้ตั้งแต่เดือนเมษายน ก่อนที่ผลผลิตทุเรียนในภาคตะวันออกจะออกสู่ท้องตลาดได้ ทำให้ทุเรียนพันธุ์นวลทองจันท์สามารถสร้างรายได้นับสิบนับร้อยล้านบาท

ความสนใจของบุตรสาว ที่หันมาสืบทอดอาชีพเกษตรกรรม ได้สร้างความสุขให้กับสุเทพ ที่จะมีคนรุ่นใหม่มีความสนใจที่จะสืบทอดอาชีพของบรรพบุรุษต่อไป

การเห็นลูกประสบความสำเร็จในอาชีพเป็นความสุขของพ่อแม่อย่างแท้จริง ประกอบกับอุดมการณ์ของสุเทพ นพพนธ์ ที่ต้องการผลักดันให้ลูกสาวสืบทอดอาชีพเกษตรกรรม และประสบความสำเร็จเมื่อลูกสาวสามารถพัฒนาด้านการตลาด จำหน่ายสินค้าเกษตรของสวนตนเอง ผ่านช่องทางต่างๆ จนสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวได้ยิ่งเป็นความสุข เป็นตัวอย่างให้กับบุตรหลานครอบครัวเกษตร ให้สามารถสืบทอดอาชีพเกษตรกรรมที่เป็นอาชีพหลักของคนไทย ให้สืบต่อไปอย่างยั่งยืน.

บทความโดย สุวินา เอี่ยมสุทธา