Eventsnews

องคมนตรีติดตามสถานการณ์น้ำ ขณะที่หน่วยงานต่างๆเตรียมรับมือภาวะฝนหนักและยาวนานจากร่องความกดอากาศ

จากสถานการณ์อุทกภัยในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ที่ได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชัน “ยางิ” ที่อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง

เช้าวันนี้ (13 กันยายน 2567) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน  นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2567 โดยมี ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน คณะผู้บริหารกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ สำนักงาน กปร. กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) เป็นต้น เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศและประเมินสถานการณ์น้ำภาพรวม

โดยนางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า เนื่องจากปีนี้ในช่วงฤดูแล้งมีปริมาณฝนน้อย ทำให้จนถึงปัจจุบันปริมาณฝนสะสมน้อยกว่าค่าปกติ 4% สำหรับการคาดการณ์ในช่วง 13-18กันยายน2567 พบว่ามีกลุ่มฝนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และร่องความกดอากาศต่ำทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะส่งผลให้เกิดฝนตกมากขึ้น จึงต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์นี้

โดยอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยามีความกังวลต่อภาวะฝนที่เกิดจากร่องความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศไทย เพราะจะทำให้เกิดภาวะฝนตกเป็นปริมาณมากและยาวนาน โดยพบว่าจะตกบริเวณยอดเขาสูงที่จะทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก จึงขอให้ทุกหน่วยงานเตรียมรับมือกับสถานการณ์นี้ ส่วนพายุนั้นทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้เฝ้าระวังและจับตาการก่อตัวของพายุ อย่างไรก็ตามจากสภาพภูมิประเทศของไทย ที่มีภูเขาพื้นที่สูงด้านประเทศลาวและเวียดนามเป็นสิ่งลดความรุนแรงของพายุ รวมทั้งทางภาคใต้จะเป็นพายุโซนร้อน จึงมีโอกาสที่จะเกิดพายุรุนแรงน้อย

ด้าน ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดการณ์ภาวะฝนในช่วงวันที่ 13-19กันยายน 2567 พบว่าร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน รวมทั้งลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย จะส่งผลให้มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น หนักหรือหนักมากบางแห่ง โดยได้รับผลกระทบใน 37จังหวัดทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตามล่าสุดมูลนิธิเพื่อน(พึ่ง)ภายามยาก ได้จับมือกับประเทศพม่าติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ 3จุด คือบ้านเจนาดา สะพานบ้านดอยต่อคำ และสะพานข้ามแม่น้ำรวก รวมทั้งที่ผ่านมาได้มีการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติที่ลาวและในประเทศไทย เพื่อทำการส่งข้อมูลระหว่างกัน ใช้ในการเฝ้าระวังและเตือนภัยสภาพอากาศแล้ว

ขณะที่ นายกัมปนาท ดีอุดมจันทร์ ผู้แทน GISTDA ได้แสดงข้อมูลภาพดาวเทียม ที่พบว่ามีภาวะน้ำท่วม 5โซน คือโซนแรกจังหวัดอุดรธานี บึงกาฬ หนองคาย และนครพนม โซนที่2คือ จังหวัดเพชรบูรณ์ โซนที่3คือจังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยา โซนที่4คือจังหวัดพิจิตร สุโขทัยและพิษณุโลก และโซนที่5 จังหวัดเชียงรายและพะเยา ซึ่งโซนนี้พบว่ามีพื้นที่น้ำท่วม 1แสนไร่ และขยายพื้นที่น้ำท่วมมากขึ้น ในลุ่มน้ำกก แม่จันและแม่สาย อีกทั้งพบน้ำค้างทุ่ง ซึ่งภาพจากดาวเทียมนี้ยังทำให้ทราบว่าภาวะน้ำท่วมได้เกิดขึ้นกับพื้นที่เกษตรกรรมขนาดพื้นที่เท่าไหร่และสร้างความเสียหายให้กับพืชชนิดใด

ด้านนาวาเอกพันธุ์นาถ นาคบุปผา ผู้อำนวยการกองสมุทรศาสตร์ ศูนย์ข้อมูลข่าวกรองภูมิสารสนเทศทางอุทกศาสตร์ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ได้รายงานว่าภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในเดือนกันยายน 2567 เกิดขึ้นในวันที่ 1-5,14-22,28-30 เดือนตุลาคมเกิดในวันที่ 1-2,13-24 และเดือนพฤศจิกายน วันที่ 2-12,16-23 ส่วนเดือนธันวาคมที่มีปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นผลจากการไหลลงมาของน้ำเหนือบวกกับภาวะน้ำทะเลหนุน

อย่างไรก็ตามในวันที่ 18กันยายนนี้ อาจเกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้าและพื้นที่ใกล้เคียง โดยระดับวิกฤตอยู่ที่ 1.70 เมตร

ส่วนวันที่ 27ตุลาคม2567 ที่จะมีขบวนเสด็จพยุหยาตราทางชลมารคนั้น เป็นวันที่น้ำทะเลไม่ได้หนุนสูง จะไม่กระทบกับพื้นที่ริมฝั่ง ส่วนกระแสน้ำในช่วงเวลาที่จะมีขบวนเสด็จนั้นเป็นภาวะน้ำลง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ทางด้านนายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน รายงานว่า ภาวะน้ำท่วมจังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่เข้าสู่ภาวะปกติ จังหวัดเชียงรายยังคงมีน้ำท่วมอำเภอเมือง คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในวันที่ 14กันยายน ซึ่งน้ำที่ไหลเข้าท่วมมาจากแม่น้ำกกที่มีต้นน้ำอยู่ในประเทศพม่า พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว คือทำคลองผันน้ำจากแม่น้ำกกลงสู่แม่น้ำลาว สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น พบปริมาณน้ำเหนือเขื่อนสิริกิติ์อยู่ที่ 82% จึงต้องพร่องน้ำในอัตราที่เหมาะสมไม่ให้กระทบกับพื้นที่ตอนล่าง เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำ50% ลุ่มน้ำป่าสักนั้น เขื่อนป่าสักมีน้ำ 35%นับว่าน้อย

ส่วนเขื่อนเจ้าพระยานั้นได้ปรับลดการระบายน้ำลง สอดคล้องกับปริมาณน้ำจากทางตอนบนที่ไหลลงมาสมทบ ซึ่งแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เป็นการบรรเทาผลกระทบด้านท้ายน้ำ ที่ปัจจุบันมีพื้นที่นอกคันกั้นน้ำได้รับผลกระทบบริเวณชุมชนแม่น้ำน้อย คลองบางหลวง และคลองบางบาล

สำหรับภาคอีสาน พบว่าปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซง และเขื่อนลำนางรอง ยังสามารถรับน้ำได้เป็นปริมาณมาก ดังนั้นภาวะฝนที่จะเกิดขึ้นในช่วงต่อไปจะส่งผลดีต่อการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง อย่างไรก็ตามขณะนี้กรมชลประทานเร่งพร่องน้ำลำน้ำชีและมูลให้มีปริมาณน้ำในลำน้ำไม่เกิน 50% เพื่อไม่ให้กระทบกับฝั่งวารินชำราบ โดยปีนี้จะดำเนินการเสริมแนวป้องกันให้สูงขึ้น

ทั้งนี้ คณะที่ปรึกษาอนุกรรมการฯ คือนายกิจจา ผลภาษี อดีตอธิบดีกรมชลประทาน นายสัญชัย เกตุวรชัย อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าจะต้องจัดทำโครงการขนาดใหญ่รองรับปริมาณน้ำในลุ่มน้ำยม รวมทั้งต้องเตรียมมาตรการรับมือหากเกิดภาวะฝนตกท้ายเขื่อน หรือเกิดพายุที่คาดการณ์ไม่ได้ โดยข้อมูลที่มีการจัดทำและประสานงานระหว่างหน่วยงานจะต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง รวมทั้งอาจจะต้องจัดทำโครงการระบายน้ำในทุกจังหวัด

ทางด้านนางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร.กล่าวว่า ที่ผ่านมาทาง กปร.ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณแก้ปัญหาด้านความแห้งแล้งเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามขอให้กรมชลประทานและหน่วยงานต่างๆ ต่อยอดพัฒนาโครงการที่มีอยู่เดิมเพื่อแก้ปัญหาด้านน้ำก่อน จะมีโอกาสได้รับงบประมาณสนับสนุนมากกว่าที่จะเสนอของบประมาณจัดทำโครงการใหม่

ขณะที่นายประยูร อินสกุล  ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากงบประมาณจัดทำโครงการขนาดใหญ่ขณะนี้ 14,000ล้านบาทนั้น เสนอแนะให้ประสานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่มีวงเงินกู้ 10,000ล้านบาท

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าจากความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านองคมนตรีจึงได้มาติดตามสถานการณ์น้ำว่ากระทรวงเกษตรฯ มีแผนในการดูแลพี่น้องประชาชนอย่างไร ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯยังได้รับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีมาดำเนินการทันที โดยมอบหมายให้กรมชลประทานดูแลประตูระบายน้ำและคันกั้นน้ำให้มีความเข้มแข็ง อีกทั้งกรมชลประทานได้รายงานแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวทั้งในภาพรวมของประเทศและการจัดทำคลองระบายน้ำเลี่ยงตัวเมืองเชียงรายต่อนายกรัฐมนตรีด้วย เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยและราชการส่วนท้องถิ่น เร่งอพยพพี่น้องประชาชน การตั้งศูนย์พักพิง รวมถึงศึกษาแนวทางในการเยียวยาทรัพย์สิน เพื่อให้พี่น้องประชาชนไม่ต้องกังวลและพร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำของภาครัฐ และในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งอพยพสัตว์ และจัดเตรียมเสบียงอาหารสัตว์ รวมถึงเร่งสำรวจความเสียหายหลังน้ำลด เพื่อประกาศเขตภัยพิบัติเพื่อเข้าช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรต่อไป.