องคมนตรีตรวจเยี่ยมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดกระบี่ สนองพระราชดำริ สืบสาน รักษา ต่อยอด ในหลวงรัชกาลที่ 10
วันพุธที่ 22 มิถุนายน 2565 เวลา 10.00 น. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วยพลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ เพื่อติดตามผลสัมฤทธิ์ และการขยายผลต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อสร้างประโยชน์สุขแก่ราษฎร สนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในช่วงเช้าคณะเดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลปลายพระยา อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ เพื่อรับฟังรายงานสรุปผลสัมฤทธิ์จากโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหยาฯ ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานไว้เมื่อปี 2530 โดยสำนักงาน กปร. ประสานสนับสนุนงบประมาณให้กรมชลประทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในปี 2533 แล้วเสร็จในปี 2535 มีขนาดความจุ 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันสามารถส่งน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภคให้ราษฎร หมู่ที่ 1, 2, 3 (บางส่วน) และ 8 รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงรวมประมาณ 800 ครัวเรือน ราษฎร 2,400 คน พื้นที่การเกษตร และนาข้าว (โรงสีข้าวพระราชทาน) รวมจำนวนประมาณ 3,932 ไร่ มีน้ำใช้ได้อย่างพอเพียงตลอดทั้งปี ส่งผลให้ราษฎรสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ตลอดปี แต่ยังมีราษฎรในพื้นที่บางส่วนที่อาศัยอยู่บริเวณด้านเหนืออ่าง และด้านท้ายอ่างยังขาดแคลนน้ำไม่สามารถใช้น้ำจากโครงการฯ ได้เนื่องจากยังขาดระบบส่งน้ำรวมทั้งยังไม่มีไฟฟ้าและถนนที่จะใช้เป็นเส้นทางคมนาคมเพื่อใช้ขนส่งพืชผลทางการเกษตรได้
การนี้ องคมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาต่อยอดโครงการฯ เพื่อให้ป็นไปตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยขอให้ทุกหน่วยร่วมกันให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ยังประสบปัญหาตามแผนงาน ในการสร้างระบบสาธารณูปโภคทั้งถนนและไฟฟ้า รวมทั้งการก่อสร้างสถานีสูบน้ำพร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อให้ราษฎรที่อยู่นอกเขตชลประทานได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึง จากนั้นคณะจึงลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการและดูสภาพพื้นที่ พร้อมพบปะให้กำลังใจราษฎร และร่วมปล่อยพันธุ์ปลาเพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนต่อไป
ต่อมาคณะ เดินทางไปยังแปลงนาข้าวของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวบ้านปากน้ำ เพื่อพบปะกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวบ้านปากน้ำ และกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โอกาสนี้ องคมนตรี และคณะร่วมหว่านข้าว และเยี่ยมชมศาลาทรงงานโยนกล้าข้าว หลังจากนั้นเดินทางไปยังโรงสีข้าวพระราชทาน รับฟังสรุปความเป็นมาและผลการดำเนินงานของโรงสีข้าวพระราชทาน และตรวจเยี่ยมโรงสีข้าวพระราชทาน
โครงการพัฒนาการปลูกข้าวเพื่อบริโภคครบวงจรในนิคมอ่าวลึกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2530 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริ สรุปความว่า “…ให้ส่งเสริมการปลูกข้าวในสหกรณ์นิคมอ่าวลึก เพื่อให้ราษฎรในนิคมมีข้าวบริโภคเพียงพอ เมื่อมีการปลูกข้าวและมีผลผลิตมากพอจะพระราชทานโรงสีข้าวขนาดเล็กให้ 1 โรง เพื่อใช้สีข้าวของราษฎรในท้องถิ่น…” โดยสำนักงาน กปร. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินงานโครงการฯ สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2564 ได้แก่ การปลูกข้าว มีเกษตรกรทำนา จำนวน 28 ครัวเรือน รวมผลผลิตข้าวเปลือกที่ได้จากทั้งการทำนาปรังและนาปีประมาณ 11,634 ถัง แบ่งเป็น นาปรัง รวม 66.5 ไร่ ผลผลิตรวมต่อปี 4,190 ถัง และนาปี รวม 112 ไร่ ผลผลิตรวมต่อปี 7,444 ถัง เกษตรกรมีรายได้รวม 2,032,320 บาท
ปัจจุบันโรงสีข้าวพระราชทานอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสหกรณ์นิคมปากน้ำ จำกัด โดยมีเครื่องสีข้าว จำนวน 2 เครื่อง ในปี 2564 ได้มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต้นแบบ ณ โรงสีข้าวพระราชทาน ทำให้ราษฎรในสหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด และสหกรณ์นิคมปากน้ำ จำกัด รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง มีข้าวบริโภคได้อย่างพอเพียง รวมทั้งยังได้ส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงให้ครัวเรือนรวมทั้งรักษาวิถีชีวิตการทำนาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ สำหรับการขยายผลโครงการนั้น จังหวัดกระบี่มีแผนในการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวเพิ่มมากขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มผลักดันให้เป็นผลผลิตประจำจังหวัดกระบี่ เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธาน และเป็นการต่อยอดจากโครงการของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้เกิดประโยชน์กับราษฎรอำเภอปลายพระยาต่อไป
ในช่วงบ่าย คณะได้เดินทางไปยังโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เพื่อรับฟังสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ สืบเนื่องจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับพื้นที่บริเวณป่าทุ่งทะเล เนื้อที่ประมาณ 4,200 ไร่ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่จังหวัดกระบี่ ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และมีพระราชเสาวนีย์ สรุปความว่า “…ให้จัดตั้งโครงการศิลปาชีพทุ่งทะเล เพื่อพัฒนาทักษะ และส่งเสริมอาชีพด้านการทอผ้า (กี่กระทบ) ของราษฎรในพื้นที่โครงการฯ ป่าทุ่งทะเล อันเป็นการยกระดับรายได้ของประชาชน ให้พออยู่พอกิน สามารถพึ่งตนเองได้ โดยเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา…” โดยสำนักงาน กปร. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการสนองพระราชดำริ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2542 – ปัจจุบัน โดยในปีงบประมาณ 2565 ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมประมง เพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันไฟป่า กิจกรรมเพาะชำกล้าไม้ป่ากินได้และไม้เศรษฐกิจ กิจกรรมฝึกอบรมการทอผ้า (กี่กระทบ) และกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเลี้ยงสัตว์น้ำ (การเลี้ยงปลาในกระชัง) ทำให้สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และยกระดับรายได้ของราษฎรโดยรอบพื้นที่โครงการฯ ให้พออยู่ พอกิน สามารถพึ่งตนเองได้ โดยเน้นให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา และช่วยฟื้นฟูสภาพป่าทุ่งทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความสมดุลทางระบบนิเวศ
สำหรับการขยายผลโครงการฯ เนื่องจากราษฎรในพื้นที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ และขาดช่องทางการตลาดในการจำหน่ายสินค้า จังหวัดกระบี่จึงได้วางแผน จัดหาบุคลากรที่มีความรู้มาฝึกอบรมให้ความรู้และวิธีการบริหารจัดการในการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ ตลอดจนการพัฒนาฝีมือในการออกแบบผลิตภัณฑ์ งานจักสาน งานทอผ้า ให้มีรูปแบบใหม่ ๆ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสืบสานในงานฝีมือเหล่านี้ เพื่ออนุรักษ์ไม่ให้สูญหายไป รวมทั้งส่งเสริมช่องทางการตลาดให้ราษฎรผู้ผลิต เช่น การจัดอบรม การขายสินค้าออนไลน์ การนำแอพพลิเคชั่นมาช่วยในการส่งเสริมการขาย และการสร้างเพจสินค้า เพื่อเป็นช่องทางการจำหน่ายอีกด้วย
โอกาสนี้คณะเยี่ยมชมโครงการศิลปาชีพทุ่งทะเล ซึ่งอยู่ภายในโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเลฯ ประกอบด้วยการสาธิตการทอผ้า (กี่กระทบ) การจักสานเตยปาหนัน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิน้ำมันหอมระเหยจากเสม็ดขาว น้ำผึ้งจากเกสรเสม็ดขาว พร้อมกันนี้องคมนตรี ได้มอบพันธุ์ปู และปลา ให้ราษฎรในพื้นที่เพื่อนำไปขยายพันธ์ุต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจากกองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.