newsNorth regionroyal project

องคมนตรี ติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 09.30 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วย นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ติดตามการดำเนินงานของสถานีรายงานดอยอินทนนท์ กองทัพอากาศ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน จากนาวาอากาศตรี กิตติวรินทร์ เดชอุปการ รองผู้บังคับสถานีรายงานดอยอินทนนท์ ซึ่งดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2518 โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2519 จนถึงปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภัยทางอากาศและตรวจจับเครื่องบินที่คาดว่ารุกล้ำอธิปไตยของชาติไทย

ต่อมา องคมนตรี และคณะฯ ได้เยี่ยมชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ณ จุดสูงสุดของดอยอินทนนท์ พร้อมรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ บริเวณป่าต้นน้ำของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จาก นายเกรียงไกร ไชยพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่วาง และอำเภอดอยหล่อ ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 297,020.01 ไร่ หรือประมาณ 475.23 ตารางกิโลเมตร

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ทอดตัวลงมาจากเทือกเขาหิมาลัยในประเทศเนปาล และมียอดดอยอินทนนท์ เป็นยอดเขาที่สูงสุดของประเทศไทย โดยป่าสงวนแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้ถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 14 ป่า ที่ทางรัฐบาลให้ดำเนินการสำรวจและจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติตามนโยบายของรัฐบาลในด้านการอนุรักษ์ การป้องกันและดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ และเพื่อการนำเอาสภาพป่าและสภาพภูมิประเทศต่างๆ ของพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่มาใช้เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและเพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัยทางด้านธรรมชาติวิทยาและชีววิทยา

ในช่วงบ่าย องคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยังเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามการดำเนินงาน โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา (อุโมงค์ส่งน้ำ แม่แตง – แม่งัด – แม่กวง) โอกาสนี้ ฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำในประเทศ จากนายวัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน สถานการณ์น้ำด้านการเกษตรและอุปโภคบริโภค จากนายอัฏฐวิชย์ นาควัชระ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 และการดำเนินงานโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา (อุโมงค์ส่งน้ำ แม่แตง – แม่งัด – แม่กวง) จากนายอภิชาติ ชุมนุมมณี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน พร้อมทั้งเยี่ยมชมพื้นที่อาคารจ่ายน้ำบริเวณปลายอุโมงค์ของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา (อุโมงค์ส่งน้ำ แม่แตง – แม่งัด – แม่กวง)

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2519 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมายังบริเวณโครงการชลประทานแม่กวง และบริเวณที่จะก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ ในพื้นที่ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานสำรวจและศึกษาการพัฒนาลำน้ำสาขาของลำน้ำแม่กวงในระหว่างการก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ และให้กรมชลประทานจัดหาที่ดินทำกินใหม่แก่ราษฎรซึ่งจะถูกน้ำท่วมที่ทำกินหลังการก่อสร้างเขื่อนด้วย

กรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแม่กวงอุดมธาราและระบบส่งน้ำ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2536 ความจุอ่างเก็บน้ำ 263 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ชลประทาน 175,000 ไร่ มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำปีละ 202 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันการเติบโตด้านการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และการขยายตัวของชุมชนในพื้นที่อำเภอสันกำแพง อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำในปริมาณที่สูงกว่าปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นปริมาณปีละ 137 ล้านลูกบาศก์เมตร และในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะขาดแคลนน้ำมากถึงปีละ 173 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานจึงได้พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยได้ศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการโดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นลำน้ำแม่แตงที่บ้านแม่ตะมาน ตำบลกื้ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจากลำน้ำแม่แตงมายังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เพื่อที่จะผันน้ำส่วนที่เกินความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูฝนของทุกปีเฉลี่ย 113 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเชื่อมต่อระหว่างอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลและอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลในช่วงฤดูฝนซึ่งมีปริมาณน้ำเกินความต้องการเฉลี่ย 47 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และเมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้ง 2 ช่วง จะสามารถผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราได้ 160 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ขอบคุณกองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.