Central RegionEditorialHappiness from developmentnewsroyal project

สุขจากการพัฒนา ตอน อ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยสร้างสุขให้ชาวท่ายาง

 

สายน้ำจากระบบน้ำหยด สร้างความชุ่มฉ่ำให้กระหล่ำปลีในแปลงปลูก เป็นสายน้ำที่ส่งผ่านระบบชลประทานมาจากอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

แปลงผักเหล่านี้เป็นของนายสมนึก เทศอ้น อาสาสมัครชลประทาน และประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยฯ โดยก่อนหน้านี้ได้เช่าพื้นที่นอกเขตชลประทานปลูกพืช แต่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ จึงมาเช่าพื้นที่ทำเกษตรในเขตชลประทาน 6ไร่ ปลูกพืชที่ให้ผลผลิตไว เช่น กระหล่ำปลี กล้วยหอมทอง มะเขือ และแตงกวา มีรายได้จากการขายพืชผัก 130,000 บาท/ปี

 

การบริหารจัดการน้ำนั้น นายสมนึกเปิดเผยว่า มีการแบ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำออกเป็น 5กลุ่ม ประกอบด้วย หมู่ที่9 สายลำห้วยธรรมชาติหมู่1  ท่อสายใหญ่ สาย1ซ้าย และสาย2ซ้าย โดยปัจจุบันมีการเก็บเงินสมาชิกเข้ากลุ่มปีละ 40บาทต่อราย เพื่อใช้ในการซ่อมบำรุงรักษาท่อที่แตกและรั่วก่อนที่กรมชลประทานในพื้นที่จะตั้งงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือ

ในโอกาสที่พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยนายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่28มิถุนายน2566

ได้รับรายงานว่าปัจจุบันชาวตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ได้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง มีการบริหารจัดการน้ำโดยกลุ่มบริหารการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยฯ และใช้น้ำผ่านระบบน้ำหยด เพื่อให้การใช้น้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ราษฎรมีความสุขจากอาชีพที่มั่นคง อย่างไรก็ตามแม้ปัจจุบันมีปริมาณน้ำคงเหลือในอ่าง 1,558,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 38.45 ก็มั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการน้ำให้ผ่านพ้นไปได้

สำหรับ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีพระราชดำริเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2523 ความว่า “ควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย ที่บริเวณเขากระปุก บ้านหนองจับงา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยเร่งด่วน พร้อมทั้งก่อสร้างระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกบริเวณหมู่บ้านหนองจับงา บ้านหนองตาฉาว และหมู่บ้านใกล้เคียง ในเขตอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่ประมาณ 28,000 ไร่ สามารถทำการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี” กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินงานสนองพระราชดำริ โดยก่อสร้างเป็นอ่างขนาดกลาง มีขนาดความจุ 4,054,000ลูกบาศก์เมตร

ต่อมาได้เกิดความขัดแย้งจากการใช้น้ำ กอปรกับอ่างเก็บน้ำเกิดความตื้นเขินเพราะได้ก่อสร้างอ่างมานาน ราษฎรตำบลเขากระปุกจึงมีหนังสือขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกครั้ง เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2549 เนื่องจากอยู่ในพื้นที่โครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ (หนองพลับ) โดยสำนักงาน กปร.ได้สนับสนุนงบประมาณ ให้แก่กรมชลประทาน เพื่อดำเนินการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยฯที่มีสภาพตื้นเขินและสระเก็บน้ำบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ ขุดลอกสระเก็บน้ำตาพูล และสระเก็บน้ำบ้านกลุ่ม 12 เพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำ

จากปัญหาแย่งชิงน้ำของราษฎร ในช่วงปลายปี 2553 กรมชลประทาน , สำนักงาน กปร. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงบูรณาการการทำงานด้วยกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ทำให้ลดปัญหาการแย่งชิงน้ำลงได้ และเกิดการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมระหว่างผู้ใช้น้ำ(คนในชุมชน) ผู้จัดการน้ำ(เจ้าหน้าที่ชลประทาน) และผู้ที่เกี่ยวข้อง สำรวจความต้องการและข้อมูลน้ำ เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติของชุมชนร่วมกัน ทำให้ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เป็นแหล่งน้ำสำหรับทำประปาอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร จำนวน 1,790 ครัวเรือน สามารถส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 4,500 ไร่และช่วยบรรเทาอุทกภัย

พระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยให้ชาวตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ไม่เพียงแต่สร้างอาชีพเกษตรกรรมให้กับราษฎร ยังสร้างชื่อเสียงให้กับอำเภอท่ายาง สร้างสุขให้กับนักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อน เป็นการสร้างสุขให้กับราษฎรอย่างยั่งยืน

บทความและภาพโดย สุวินา เอี่ยมสุทธา.