Art culture and Entertainmentnews

ละครเวที “บันทึกรักเกาะนางจร” เชื่อมโยงไอทีกับงานศิลปะ

           ความเศร้าเสียใจของนางจรที่ชายคนรักทอดทิ้งนางไป ยังไม่เท่ากับการที่ชายคนรักเป็นเจ้าของบริษัทรับสัมปทานนำทรายมาถมแม่น้ำปิง จุดที่นางจรและพ่อเลี้ยงอุดมมาพลอดรักกันในอดีต    ทำให้สถานที่แห่ง ความทรงจำได้เลือนหายไปกับสายน้ำปิง เป็นฉากหนึ่งของการแสดงละครเรื่อง บันทึกรักเกาะนางจร

ละครเวที “บันทึกรักเกาะนางจร” จัดแสดงโดยคณะสังกะสีการละคอน หนึ่งในการนำเสนอผลลัพธ์จากกิจกรรม “เชื่อมวัยด้วยไอที” ที่ศูนย์การเรียนรู้มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทยจัดขึ้นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคน 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเยาวชน โดยใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลาง โดย         ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต รองประธานมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย เปิดเผยว่า  มูลนิธิให้ความสนใจการพัฒนาบุคลากร โดยตั้งศูนย์เรียนรู้ขึ้น เน้นการสอนเขียนโปรแกรมการพัฒนาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสอนการสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แต่เด็ก ๆ ควรเปิดโลกทัศน์ให้ครอบคลุมแทนที่จะมุ่งเทคโนโลยีอย่างเดียว ดังนั้น เมื่อมีการเสวนาเรื่องริมปิง จึงเป็นโอกาสที่เด็ก ๆ จะใช้เนื้อหาเดียวกัน แทนที่จะแสดงออกทางดิจิทัลอย่างเดียว ให้นำศิลปวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะกระบวนการสร้างละครเป็นการใช้ตรรกะทุกด้าน และต้องหาข้อมูล เช่นเดียวกับกระบวน Computational Thinking ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม และต้องใช้ทีมงานสร้างฉากด้วยการใช้เทคโนโลยีมาสร้างงานศิลปะ ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพของเด็กให้มีความพร้อมมากขึ้น

ทางด้านครูจืด เข็มทอง โมราษฏร์ เป็นผู้ฝึกซ้อมและกำกับการแสดง เล่าว่า ได้รับโจทย์ให้พัฒนาเด็กด้วยงานละคร จึงนำเรื่องที่อาจารย์กาญจนามีอยู่แล้ว คือเรื่องเล่าของคนเฒ่าเกี่ยวกับชุมชน ว่าแต่ก่อนมีนางจรเป็นคนบ้าซึ่งคิดว่าจะต้องมีเรื่องราวที่ทำให้เป็นบ้า ประกอบกับเคยมีเกาะกลางลำน้ำปิงแต่หายไป จึงเป็นที่มาของการปักหมุดเกาะ พบว่าอยู่ที่ลานจอดรถในจังหวัดตาก ตนจึงนำเรื่องราวมาเชื่อมโยงกับช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดตาก ตั้งแต่ยุคสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยุคการล่องแพซุงในแม่น้ำปิงจนถึงสมัยปัจจุบัน โดยใช้แม่น้ำปิงเป็นตัวดำเนินเรื่อง ซึ่งนักแสดงคือ เด็ก ๆ เหล่านี้ ต่างมีความต้องการที่จะแสดงละคร จึงเปิดโอกาสให้แสดงความสามารถแสดงออกตามลักษณะของตัวละคร ซึ่งเด็กแต่ละคนจะแสดงบทบาทตัวละครเดียวกันในรูปแบบที่ต่างกัน ขึ้นกับการตีความของเด็กแต่ละคน

“นางจรตัวที่อยู่เบื้องหน้าเค้าชอบที่จะแสดง แต่มันก็มีเรื่องเล่าผ่านเพลงค่าวที่เป็นเพลงเฉพาะของทางเหนือ เด็กก็ได้ไปเรียนกับคนแก่ เค้าก็เป็นตัวนึงที่เป็นตัวนางจร อันนี้ก็เป็นการตีความแล้วแต่ว่าจะตีความในสิ่งที่ตนสื่อได้ไม๊ เป็นการใช้พื้นฐานวิชาการแสดงรองรับศักยภาพของเด็ก” ครูจืดกล่าว นอกจากนี้ เด็ก ๆ ยังใช้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์สร้างฉากด้วยแอนิเมชัน และยังออกแบบจัดทำสูจิบัตรแนะนำละครกันเอง  โดยหลังการแสดงจบในแต่ละรอบ เด็ก ๆ จะประเมินการแสดงของตนเพื่อปรับปรุงการแสดงในรอบต่อไป

 

นางสาวรักษิตา เกตุดี นักเรียนชั้นมัธยมที่ 6 โรงเรียนตากพิทยาคม จังหวัดตาก ผู้แสดงเป็นนางจร   เล่าว่า  ส่วนตัวสนใจการแสดงและไอที จึงอยากรู้ว่าถ้าผสมทั้งสองอย่างจะเป็นอย่างไร และอยากช่วยพัฒนางานด้านนี้ด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อได้แสดงจริงพบกับผู้ชม ทำให้พบว่าการแสดงของตนเองมีการพัฒนาอารมณ์ความรู้สึกมากขึ้น และเมื่อประเมินการแสดงในรอบแรกแล้ว คิดว่าในรอบการแสดงต่อไปจะแสดงอารมณ์ของตัวละครให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

จากนั้นได้มีการเสวนาในหัวข้อ “จาก นางจร สู่ แคดเมียม” โดย วงเสวนาประกอบด้วย กาญจนา  กาญจนสุต  ชาวตาก,  สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมกำจัดขยะมูลนิธิกระจกเงา และ ธรรมรัตน์ คุตตะเทพ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย  และ  โดยสรุปเนื้อหาได้ว่า เหตุการณ์สร้างเขื่อนภูมิพล และการถมทรายปรับภูมิทัศน์ จนทำให้สายน้ำปิงเปลี่ยนและวิถีชีวิตของชุมชนเปลี่ยนไป โดยที่ไม่มีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นธีมหลักของละคร “บันทึกรักเกาะนางจร” ได้สะท้อนมายังเหตุกาณ์พบสารแคดเมียมที่จังหวัดสมุทรสาครและกำลังจะขนย้ายกลับไปเก็บไว้ที่จังหวัดตาก โดยที่ไม่มีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเช่นกัน
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนา แสดงความเห็นต่อการจัดการขยะว่า ประเทศไทยมีแร่ธาตุหลากหลายชนิด จึงมีการขุดแร่ธาตุที่มีมูลค่าในแต่ละยุคสมัยออกมาใช้ ทำให้เกิดขยะที่มีสารพิษ รวมถึงขยะจากบ้านเรือน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อไม่ให้ขยะทำอันตรายต่อประชาชน ขณะเดียวกันการจัดการขยะนั้นก็จะต้องเริ่มที่ตัวเราที่จะลดขยะก่อนที่จะหาทางกำจัดขยะจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด

ทั้งนี้ ศูนย์การเรียนรู้มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย ได้จัดแสดงละครเวที “บันทึกรักเกาะนางจร” ขึ้นที่ GalileOasis ราชเทวี กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 17 – 19 พฤษภาคม 2567 โดยหลังจากการแสดงละครได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ กับ การละคร และเบื้องหน้าเบื้องหลังการจัดละครครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเกมชิงรางวัล ชิมเมี่ยงคำเมืองตาก การแสดงดนตรี และการแสดงสินค้าจากกลุ่มชาติพันธุ์และสินค้าพื้นเมืองจังหวัดตากด้วย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับละครเวที “บันทึกรักเกาะนางจร” ได้ที่เว็บไซต์: บันทึกรักเกาะนางจร.ไทย.