Generalnews

เกษตรฯติวเข้มผู้ส่งออก “ผลิตภัณฑ์จิ้งหรีด”รู้ทันใหม่ EU กรุยทางชิงส่วนแบ่งตลาด

               นายพิศาล  พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยเมื่อไม่นานนี้ว่า จิ้งหรีดเป็นแมลงเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพและมีโอกาสในการส่งออกสูงโดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปหรืออียู(EU) มีผู้ประกอบการหลายรายสนใจนำเข้าผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดจากไทยค่อนข้างมาก ทั้งในรูปจิ้งหรีดแช่แข็ง ต้มบรรจุกระป๋อง และจิ้งหรีดอบและบดเป็นโปรตีนผงเพื่อใช้เป็นส่วนผสมอาหาร เป็นต้น ซึ่งความต้องการมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่เนื่องจากการบังคับใช้กฎระเบียบว่าด้วยอาหารใหม่หรือโนเวลฟู้ด(Novel Food) ของ EU ซึ่งเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสินค้าที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยสินค้าเกษตรและอาหารหลายรายการ รวมทั้งจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ ต้องดำเนินการยื่นขอขึ้นทะเบียนตามข้อกำหนดภายใต้กฎหมาย สถานะอาหารใหม่ (Novel Food) พร้อมทั้งจัดทำเอกสารข้อมูลทางวิชาการประกอบการยื่นขอ (Scientific Dossier) โดยสามารถยื่นคำขอในสถานะอาหารที่มีการบริโภคมานาน (Traditional Food) หรือสถานะอาหารใหม่ (Novel Food) เพื่อให้สำนักงานความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป (EFSA) พิจารณาความปลอดภัยหรือหลักฐานการบริโภคก่อนอนุญาตเปิดตลาดนำเข้าอย่างเป็นทางการ

            จากประเด็นดังกล่าว มกอช.จึงเร่งประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (EU Delegation) จัดสัมมนาและฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Workshop on EU Novel Food Regulation – Case of Insects (Crickets) หรือระเบียบอาหารใหม่ของสหภาพยุโรป กรณีศึกษาเปิดตลาดผลิตภัณฑ์แมลง (จิ้งหรีด) โดยเชิญอัครราชทูตที่ปรึกษาด้านอาหารและสุขภาพ ของ EU Delegation  และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงาน EFSA มาชี้แจงรายละเอียดเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายNovel Food ของ EU รวมทั้งกรณีศึกษาจิ้งหรีดในสถานะอาหารใหม่ การประเมินความเสี่ยงของสินค้าและผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดเพื่อใช้เป็นอาหาร และแนวทางการจัดทำข้อมูลประกอบการยื่นคำขอรับรองสถานะอาหารใหม่ ตลอดจนการยื่นขอเปิดตลาด ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกของไทย และเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 150 คน ได้รับทราบและเข้าใจแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจนมากขึ้น

“นอกจากเผยแพร่กฎระเบียบว่าด้วยอาหารใหม่ของEU ผลบังคับใช้ รวมถึงแนวปฏิบัติในการผลิต แปรรูป และส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังEU แล้ว ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการและสร้างความรู้ความเข้าใจ พร้อมเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกรผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์แมลงของไทย ซึ่งจะช่วยให้สามารถเปิดตลาดได้เร็วและขยายโอกาสทางการตลาดส่งออกจิ้งหรีดไป EU และนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมแมลงของไทยให้เติบโตและขยายตัวเพิ่มขึ้น” รองเลขาธิการ มกอช.กล่าว

            นายพิศาลกล่าวอีกว่า แมลงหลายชนิดรวมทั้งจิ้งหรีดถือเป็นความหวังสำคัญต่อการพัฒนาความมั่นคงทางอาหารของโลก เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบอาหารมนุษย์และสัตว์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ต้นทุนการผลิตต่ำ ปริมาณแลกเนื้อสูง ต้องการอาหารและน้ำในปริมาณที่น้อยทำให้สามารถเลี้ยงได้ในพื้นที่แห้งแล้งที่ไม่สามารถเพาะปลูกผลผลิตอื่นๆ ได้ ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดย มกอช.ได้ประกาศมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด(มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจรับรองตาม มกษ. เพื่อรองรับการยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดทั้งสายพันธุ์ทองดำ ทองแดง และสะดิ้ง กว่า 20,000  ฟาร์ม กำลังการผลิตจิ้งหรีดรวมมากกว่า  7,000 ตัน/ปี ป้อนตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ มีมูลค่าประมาณ 1000 ล้านบาท

            “ปี 2561 นี้ กระทรวงเกษตรฯได้เร่งส่งเสริมและพัฒนาการผลิตจิ้งหรีด โดยมีเป้าหมายขยายพื้นที่ผลิตจิ้งหรีดภายใต้ระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ในพื้นที่อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ และอำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต แปรรูป และขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงสหภาพยุโรป ตอบสนองต่อกระแสนิยมการบริโภคแมลงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มความความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถรองรับการแข่งขันสินค้าจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ และสินค้าแมลงของไทยในตลาดโลกในอนาคต” นายพิศาล กล่าว