EnvironmentInnovationnews

พี่วินรักษ์โลกมาแล้ว!..มธ.รังสิต ประเดิมใช้ “วินจยย.พลังแสงอาทิตย์” ลดมลพิษ ต่อยอดเป็น มหา’ลัยสีเขียว-สมาร์ทซิตี้

          ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มธ. กล่าวถึงโครงการโซลาร์ไรด์ (SOLARYDE) ที่มธ.ศูนย์รังสิต นำมาใช้บริการจำนวน 25 คัน แทนจยย.รับจ้างที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน ในเดือนมี.ค.นี้ว่า เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และภาคเอกชนในการต่อยอดนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวเพื่อพลังงานสะอาดและยั่งยืนและการผลักดันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สู่สมาร์ทซิตี้นำร่อง (SMART CITY) โดยโซลาร์ไรด์เป็นโครงการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างพลังงานสะอาดและประหยัดแบบครบวงจร ตัวมอเตอร์ไซค์ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าจากแบตเตอรี ที่มาพร้อมสถานีชาร์จไฟ ซึ่งใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งไปก่อนหน้านี้ พร้อมให้บริการนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้บริการรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารับจ้างในอัตราค่าบริการเท่าเดิม แต่มีโอกาสช่วยลดมลพิษให้กับมหาวิทยาลัย และเป็นการประหยัดการใช้พลังงานให้กับประเทศชาติ อีกทั้งยังเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการ เนื่องจากรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าดังกล่าว ได้ถูกจำกัดความเร็วไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

          ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเบื้องต้น ได้เริ่มดำเนินการเปลี่ยนรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ให้บริการภายในมหาวิทยาลัย ให้เป็นรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจำนวน 25 คัน พร้อมให้บริการในเดือนมีนาคม ซึ่งจะเพิ่มจำนวนเป็น 50 คันในเดือนเมษายน และ 150 คัน ภายในสิ้นปี 2561 นี้ตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันตัวเลขปริมาณยานพาหนะทุกประเภทที่เข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีสูงถึงประมาณ 22,000 คันต่อวัน คิดเป็นคาร์บอนที่ปล่อยประมาณ 3,700 เมตริกตันต่อปี ทั้งนี้ การนำร่องใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าครั้งนี้จะช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในศูนย์รังสิตได้มากกว่า 500 เมตริกตันต่อปี และมีเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนจากบริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท (Zero Carbon Transportation) ให้เป็นศูนย์ ภายในเวลา 5 ปี


        ผศ.ดร.ปริญญา
กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ได้ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน จากการอนุรักษ์พลังงาน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ โดยเน้นที่การใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทน การเพิ่มและรักษาต้นไม้ใหญ่ เพื่อลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยปลอดขยะ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ ความร่วมมือกับบริษัทโซลาร์ตรอนในการติดตั้งแผงผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 5 เมกะวัตต์ การใช้รถรางไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งได้นำร่องติดตั้งไปแล้วจำนวน 6 คัน รวมไปถึงการสร้างอาคารที่ได้รับการออกแบบเพื่อการประหยัดพลังงาน ฯลฯ