Innovationnews

รับวันพยาบาลสากล !! นักวิจัย พยาบาล ธรรมศาสตร์ โชว์ “อุปกรณ์นำช่วยชีวิตพกพา” นวัตกรรมอุปกรณ์วัดการหายใจและโค้ชชิ่งการCPRผู้ป่วยแบบเรียลไทม์

                กรุงเทพฯ (7พ.ค.2561) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โชว์ผลงาน “อุปกรณ์นำช่วยชีวิตพกพา” อุปกรณ์ช่วยสอนการทำซีพีอาร์ (CPR) แบบเรียลไทม์ เพื่อใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่อย่างถูกวิธีและเหมาะสมกับผู้ป่วย แม้ไม่เคยผ่านการอบรมการทำซีพีอาร์มาก่อน


             อาจารย์สุภาวดี ทับกล่ำ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทีมนักวิจัยคณะพยาบาลศาสตร์ มธ. ได้พัฒนา “เอสที อุปกรณ์วัดการหายใจและนำการช่วยชีวิตพกพา” (ST-Safe Breathing plus Coaching CPR)  ประกอบด้วยสิ่งประดิษฐ์ 2 ชิ้น ได้แก่ อุปกรณ์การวัดการหายใจแบบเรียลไทม์และอุปกรณ์นำช่วยเหลือผู้ที่ต้องการทำซีพีอาร์ (CPR) เพื่อใช้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ให้สามารถทำได้อย่างถูกวิธีแม้ไม่เคยได้รับการอบรมการทำซีพีอาร์มาก่อน เพียงนำอุปกรณ์นำการช่วยชีวิตขนาดเล็กวางไว้บนหน้าอกของผู้ป่วย และเชื่อมต่อสัญญาณกับสมาร์ทโฟน (Smartphone) ตัวอุปกรณ์จะวัดการหายใจของผู้ป่วย ณ เวลาจริง (Real Time) โดยแสดงผลผ่านแอปพลิเคชัน และแนะนำผู้ช่วยในการทำการช่วยชีวิตเบื้องต้นอย่างถูกต้อง โดยนวัตกรรมดังกล่าวได้รับรางวัลเหรียญเงินจากเวทีการประกวดนวัตกรรมระดับโลกครั้งที่ 46 (46th International Exhibition Invention Geneva) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งเคยได้รับรางวัลเหรียญทองและรางวัลพิเศษจากการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ณ กรุงโซล (Seoul International Invention Fair 2017: SIIF) ประเทศเกาหลีใต้ ในปี พ.ศ.2560 ด้วยเช่นกัน

             อาจารย์สุภาวดี กล่าวต่อว่า ส่วนหนึ่งของนวัตกรรมดังกล่าวได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากผลงานในโครงการ นวัตกรพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat Nurse Innovator) ที่ได้จัดตั้งขึ้น เป็นโครงการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาพยาบาลระดับปริญญาตรีของ มธ. ให้มีความคิดเชิงนวัตกรรม ในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ทางสุขภาพ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ป่วยในด้านสุขภาพอย่างตรงจุด โครงการนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของคณะพยาบาลศาสตร์ มธ. ที่มุ่งเป็นศูนย์นวัตกรรมทางพยาบาลของเอเชียในอนาคต ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปี ในการดำเนิน โครงการนวัตกรพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการสร้างและพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่มีศักยภาพหลากหลายผลงาน อาทิ อุปกรณ์การตรวจสอบท่านอนและการดิ้นของทารกในครรภ์ผ่านแอปพลิเคชัน (Smart-Preg Monitor) ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองจากการประกวดนวัตกรรมนานาชาติที่ประเทศเกาหลีใต้ (SIIF) ในปีพ.ศ. 2560 รวมถึงผลงานหุ่นจำลองฝึกดูดเสมหะในเด็ก ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองจากการประกวดนวัตกรรมที่ประเทศมาเลเซีย (ITEX)

“พยาบาลถือว่าเป็นหนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสำคัญที่มีจำนวนมากที่สุด ในการดูแลสุขภาพของประชาชนทุกระดับ จากจำนวนกว่า 160,000 คนทั่วประเทศ หรือมีจำนวนมากกว่าแพทย์ราว 5 เท่าตัว และด้วยหน้าที่ของพยาบาลคือการส่งเสริมสุขภาพประชาชน ป้องกันโรค รักษาผู้ป่วยในเบื้องต้น และฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยหลังการรักษา ซึ่งถือเป็นการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างครบวงจร พยาบาลจึงเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากที่สุดในระบบบริการสุขภาพ เป็นผู้ที่เข้าถึงปัญหาสุขภาพรอบด้านของประชาชนโดยตรง พยาบาลจึงเป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสุขภาพให้ตรงกับปัญหาและความต้องการของผู้รับบริการได้มากที่สุด” อาจารย์สุภาวดี กล่าวสรุป

ทั้งนี้สำหรับผู้ที่สนใจหรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร 02-986-9213 ต่อ 7316-8 หรือ www.nurse.tu.ac.th