Agriculture NewsEconomics Newsnews

เห็นผลจริง! แนะเกษตรกรปลูกพริกไทยจันทบุรี ลดการใช้สารเคมี หันมาใช้ “สารชีวภัณฑ์” ลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิต-ปลอดสารพิษ-ดีต่อสุขภาพ

          ตามที่ ประเทศไทยมีการปลูกพริกไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2300  โดยปลูกทางภาคใต้และแพร่กระจายมาทางภาคตะวันออก เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกัน ส่วนแหล่งปลูกแหล่งใหญ่ในปัจจุบันจะอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี โดยมีพื้นที่ปลูกจำนวน 6,757 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 2,889 ตัน คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 387 ล้านบาท ต่อปี   แต่ในระยะต่อมาเกษตรกรที่ปลูกพริกไทยมักประสบปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืช ทำให้ผลผลิตลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพ สาเหตุเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดการโรคและแมลงศัตรูพืช จึงทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างที่ควรจะเป็น
         ต่อมา สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ที่ 3 (สสก.3) จังหวัดระยอง กรมส่งเสริมการเกษตร จัดทำแปลงสาธิตพร้อมจัดเจ้าหน้าที่ประจำแปลงเพื่อให้คำแนะ นำแก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจประจำศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี และยังมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในแต่ละตำบลทุกอำเภอ ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎร ตามแนวทางการให้ความรู้ในการทำการเพาะปลูกพืช ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ตลอดถึงแนวทาง การดูแลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ จนปัจจุบัน ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
         ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของ นางอาภาพร  ช่างถม  นักวิชาการเกษตรชำนาญการ  สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ที่ 3 (สสก.3) จังหวัดระยอง  หลังจากลงพื้นที่แปลงปลูกพริกไทยของเกษตรหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และหมู่บ้านขยายผล ของศูนย์ฯ พร้อมด้วยนายภาณุพงศ์ ชลชลา นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ ประจำงานส่งเสริมการเกษตร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่าปัญหาที่เกษตรกรผู้ปลูกพริกไทยได้รับผลกระทบ จนทำให้หลายรายเลิกปลูก ด้วยเจอปัญหาเรื่องโรคพืชและแมลงศัตรูพืชเข้าทำลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราทำให้มีอาการใบร่วงให้ผลผลิตต่ำ และไม่มีคุณภาพ ทำให้มีต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นด้วยเกษตรกรนำสารเคมีมาใช้ในการกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชที่สำคัญเกษตรกรมักจะใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเพียงอย่างเดียว ซึ่งเกิดผลเสียต่อต้นพริกไทย ซึ่งนอกจากจะทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นแล้ว เชื้อราบางชนิดเกิดการดื้อยาไม่สามารถทำลายได้หมดสิ้น ในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ให้ความรู้และความเข้าใจกับเกษตรกร พร้อมเสริมสนับสนุนให้ลดการใช้สารเคมีในการแก้ไขปัญหาแล้วหันมาใช้สารชีวภัณฑ์แทน คือ เชื้อราไตรโคเดอร์มา ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้เป็นจำนวนมากแล้ว ยังมีความปลอดภัยต่อสุขภาพของเกษตรกร และผู้บริโภคอีกด้วย 
           ด้าน นายบุญชัย กิ่งมณี ประธานกลุ่มผู้ปลูกพริกไทย ตำบลรำพัน  และหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านสองห้อง ตำบลรำพัน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เปิดเผยว่าเมื่อก่อนเกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกพริกไทยพันธุ์จันทบุรีโดยมีนักวิชาการเกษตรจากสำนักงานเกษตร จังหวัดจันทบุรี มาส่งเสริมและสนับสนุนให้ร่วมกันฟื้นฟูการปลูกพริกไทยพันธุ์จันทบุรีขึ้น ซึ่งเป็นพริกไทยที่มีลักษณะจำเพาะคือมีกลิ่นที่แรง รสเผ็ด และหอมกว่าพันธุ์อื่นๆ และเป็นพันธุ์ที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จึงสามารถจำหน่ายได้ราคาดีกว่าพริกไทยพันธุ์มาเลเซีย หรือพันธุ์ซีลอน ที่ไม่เหมาะกับการเอามาผลิตเป็นพริกไทยดำ แต่เหมาะในการบริโภคสดเพียงอย่างเดียว
          นายบุญชัย กล่าวอีกว่า แต่จากความไม่เข้าใจของเกษตรกรส่วนหนึ่งที่นำสารเคมีเข้ามาใช้เพื่อบำรุงต้นพริกไทย ทำให้เกิดปัญหาดินกระด้าง ยังผลให้พืชเป็นโรครากเน่าโคนเน่า ต่อมาเจ้าหน้าที่เข้ามาส่งเสริมแนะนำให้ใช้สารชีวภัณฑ์แทนสาเคมี โดยนำเกษตรกรเข้ารับการอบรบที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา หลังจากเกษตรกรหันมาใช้สารชีวภันฑ์และผสมผสานกับการใช้ปุ๋ยหมัก แทนสารเคมี ยังผลให้ดินมีสภาพที่ดีขึ้น ทำให้พืชประเภทรากอ่อนและเนื้ออ่อนซึ่งง่ายต่อการเป็นโรค เช่น ทุเรียน และไม้ผลชนิดอื่นๆ รวมทั้งพืชผักสวนครัว อาทิ มะเขือ พริกขี้หนู มะเขือเทศ มีความแข็งแรงเจริญเติบโตดี และไม่ค่อยเป็นไรคในทุกวันนี้ “เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติใช้ ทำให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยมีการผลิตปุ๋ยหมักและสารไล่แมลงที่มาจากต้นพืช ก็ช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้เป็นอย่างมาก”  นายบุญชัย กล่าว