Agriculture NewsEconomics Newsnews

แก้จุดบอด กระจายความรู้ไม่ทั่วถึง หนุนเกษตรกรตะวันออก เรียนรู้การเลี้ยงผึ้งชันโรง ผ่าน e-Learning

         นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 (สสก.3) จังหวัดระยอง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการผลิตบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (e- Learning) ภาคตะวันออก เพื่อการเรียนรู้ ผ่านระบบทางไกล ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดจันทบุรี เมื่อไม่นานนี้ว่า สสก.3 ระยอง ได้ผลิตบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) เรื่อง “ผึ้งชันโรงเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจทางการเกษตร” เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลากรโดยใช้สื่อทางไกล สร้างให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ รวมถึงให้บุคลากรในหน่วยงานและผู้ที่สนใจมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว

“ที่ผ่านมาสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้สร้างการรับรู้ด้วยการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเป็นกลไก พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ เนื่องจากปัจจุบันเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอและไม่สามารถเข้าถึงตัวเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง จึงผลิตบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ มีการเผยแพร่ผ่านระบบออนไลน์หน้าเว็บไซด์ของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เพื่อให้เจ้าหน้าที่และเกษตรกรที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก สามารถศึกษาได้ด้วยตนเองได้ตลอดเวลา โดยในปี 2561 สำนักงานฯ ได้ผลิตบทเรียนเรื่อง “ผึ้งชันโรงเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจทางการ เกษตร” ซึ่งผึ้งชันโรง ถือเป็นตัวช่วยทางธรรมชาติในการผสมเกสรให้ไม้ผลได้เป็นอย่างดี นายชาตรี บุญนาค กล่าว

ด้านนายสวัสดิ์ กิจเจริญ เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งชันโรง ต.วังแซ้ม อ.มะขาม จ.จันทบุรี หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมการสัมมนาฯ  ซึ่งได้นำผึ้งชันโรงมาเลี้ยงเพื่อใช้ผสมเกสรในสวนผลไม้ มากว่า 10 ปี ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรที่ปลูกให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เพิ่มปริมาณผลผลิต และจากความสำเร็จนี้จึงทำให้มีเกษตรกรรายอื่นๆ  เดินทางมาศึกษาเรียนรู้การเลี้ยงผึ้งชันโรง เพื่อนำไปเลี้ยงในพื้นที่สวนของตนเองเพิ่มขึ้นทุกปี

“ที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่แทบจะไม่รู้จักผึ้งชันโรง บางรายมีการนำผึ้งชนิดอื่นมาเลี้ยง แต่ก็ต้องประสบปัญหา เนื่องจากผึ้งชนิดอื่นออกหากินไกลจากรัง และเกษตรกรบางรายมีการนำสารเคมีมาใช้ในแปลงเพาะปลูกทำให้ผึ้งตาย ขณะที่ผึ้งชันโรงหากินใกล้จึงไม่เป็นปัญหาในเรื่องนี้ และผึ้งชันโรงยังเป็นผึ้งที่ขยันออกหากิน ทำให้การผสมเกสรเป็นไปได้ดีกว่า” นายสวัสดิ์ กล่าว

​            ขณะที่ ผศ.ดร.อัญชลี สวัสดิ์คำ อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตพืชและภูมิทัศน์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี นักวิจัยผึ้งชันโรง เปิดเผยว่า จากการทำวิจัยเรื่องการใช้ประโยชน์จากผึ้งชันโรงเมื่อปี พ.ศ.2542 พบว่า ขณะนั้นมีปัญหาหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือ การเลี้ยงผึ้งชันโรงตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยเฉพาะการไปเก็บรังผึ้งชันโรงจากธรรมชาติมาเลี้ยง ตลอดถึงการขาดความรู้ทางด้านวิชาการในการเลี้ยงที่ถูกต้อง ทำให้การแยกรังเกิดความเสียหาย ก่อให้เกิดความสูญเสียที่หลากหลายทางชีวภาพในวงจรชีวิตของผึ้งชันโรง จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัย แล้วนำมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกร เพื่อให้ทราบถึงวิธีการแยกขยายผึ้งชันโรงที่ถูกต้อง พร้อมกันนี้มีการต่อยอดด้วยการทำการวิจัยในเรื่อง ประสิทธิภาพในการช่วยผสมเกสรของผึ้งชันโรงในแต่ละชนิดพืช เพื่อนำไปขยายผลให้กับเกษตรกรได้นำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

นายชยุทกฤดิ นนทแก้ว  ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า บทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) เรื่อง “ผึ้งชันโรงเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจทางการเกษตร” ที่กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร เขต 3 จังหวัดระยอง ผลิตออกมานี้ จะนำไปขยายผลลงสู่สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่อให้เกษตรกรที่สนใจการเลี้ยงผึ้งชันโรงเป็นตัวช่วยในการผสมเกสร สามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้ได้ด้วยตนเองในทุกๆ ขั้นตอน  และจากประสบการณ์ในการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชันโรง มากว่า 25 ปี ยังมีแนวคิดที่จะให้เกษตรกรเลี้ยงผึ้งชันโรงเพื่อเป็นแมลงช่วยผสมเกสรพืชผลทางการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต มากกว่าการนำน้ำหวานของผึ้งชันโรงมาจำหน่าย เนื่องจากน้ำหวานของผึ้งชันโรงนั้น มีราคาแพง  หายาก และเกรงว่าในอนาคตหากมีความต้องการในน้ำหวานของผึ้งชันโรงมากขึ้น วัตถุประสงค์และการใช้ประโยชน์จากประสิทธิภาพของผึ้งชันโรงที่ใช้เป็นตัวช่วยผสมเกสรก็จะเปลี่ยนไป 

“ผมเน้นส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงผึ้งชันโรง เพื่อเป็นแมลงผสมเกสรพืชเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพราะการที่เกษตรกรเลี้ยงผึ้งชันโรงมากขึ้น การใช้สารเคมีก็จะลดลง และจากนั้นผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นน้ำผึ้ง รวมถึงผลผลิตจากพืชที่ผึ้งชันโรงช่วยผสมเกสร ก็ปราศจากสารเคมีและสารพิษ ซึ่งสุดท้ายก็คือ สุขภาพของเกษตรกรที่ดูแลแปลงเพาะปลูกและของผู้บริโภคจะปลอดภัย ห่างไกลจากสารเคมี“ นายชยุทกฤดิ กล่าว