Central RegionEditorialnewsroyal projectRoyal Story

โครงการระบายน้ำรอบสนามบินสุวรรณภูมิบรรเทาทุกข์ให้ราษฎร

คลองระบายน้ำยาว 10.12 กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขและป้องกันน้ำท่วม บริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันออกตามพระราชดำริ โดยดำเนินการ 2 โครงการ คือโครงการระบายน้ำบริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมิอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ และโครงการคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

พื้นที่ลุ่มในจังหวัดสมุทรปราการก่อนที่สายน้ำจะออกสู่อ่าวไทย เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น กุ้งขาว กุ้งแม่น้ำ กุ้งก้ามกราม ปลาสลิด ปลานิล ปลูกกล้วย มะม่วงน้ำดอกไม้ ในอดีตน้ำจะท่วมเมื่อถึงฤดูน้ำหลากและระบายลงทะเลตามระบบน้ำขึ้นลงของระดับน้ำทะเลทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขัง และในฤดูแล้งต้องประสบปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำไม่มีน้ำในการทำการเกษตร เมื่อโครงการพระราชดำริมาช่วยแก้ปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ ไม่ต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วมอีก

 

ในอดีตได้เกิดปัญหาอุทกภัยครั้งสำคัญในหลายพื้นที่ รวมทั้งกรุงเทพมหานครที่ได้รับผลกระทบจากพายุพัดผ่าน ทำให้ชีวิตทรัพย์สินและเศรษฐกิจของประเทศเสียหายอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยและทรงตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน จึงพระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขและบรรเทาปัญหา ตลอดถึงการบริหารจัดการน้ำท่วมในหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะต้องรองรับน้ำระบายออกสู่ทะเล โดยเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2546 ได้พระราชทานพระราชดำริ สรุปความว่า ให้คำนวณบริหารจัดการน้ำโดยหลีกเลี่ยงการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา และให้พิจารณาระบายน้ำออกทางด้านข้าง เช่น ฝั่งแม่น้ำตะวันออกระบายน้ำลงสู่ทะเล โดยผ่านทางคลองระพีพัฒน์ ปล่อยตรงไปยังคลอง 14 ลงสู่คลองแสนแสบ แล้วระบายน้ำออกไปทางแม่น้ำบางปะกง และคลองพระองค์ไชยานุชิต ส่วนฝั่งตะวันตกให้ระบายไปทางแม่น้ำสุพรรณบุรีเป็นระยะ ๆ โดยพิจารณาจากน้ำขึ้น น้ำลง ของกรมอุทกศาสตร์ อีกทั้งไม่ให้ระบายน้ำผ่านเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้เร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลโดยเร็ว ระบายไปลงตรงปลายคลองพระองค์ไชยานุชิต และเนื่องจากคลองประเวศน์ ไปถึงทะเลมีความลาดเทน้อยก็อาจทำสถานีสูบน้ำที่คลองสำโรง เพื่อเร่งสูบทอยน้ำเป็นขั้น ๆ ลงสู่ทะเล นอกจากนี้ในการระบายน้ำบริเวณหนองงูเห่าให้พิจารณาขุดคลองระบายน้ำ โดยมีขนาดที่เหมาะสมและไม่ใช่เพื่อการระบายน้ำเฉพาะบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ให้พิจารณารวมบริเวณรอบ ๆ ด้วย

จากการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย นายลลิต ถนอมสิงห์ รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าปัจจุบันโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งประกอบด้วยคลองระบายน้ำยาว 10.12 กิโลเมตรอาคารประกอบ คืออาคารสะพานน้ำ 2.20 กิโลเมตร ข้ามคลองชายทะเลและ ถนนสุขุมวิท สะพานรถยนต์ 10 แห่ง ประตูระบายน้ำ 22 แห่ง  สถานีสูบน้ำ สถานีไฟฟ้าย่อย ระบบควบคุมระยะไกล ระบบโทรมาตร อุทกวิทยา และส่วนประกอบอื่น ๆ สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มศักยภาพ

สามารถลดพื้นที่น้ำท่วมลงได้ถึง 140 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 87,000 ไร่ ลดความเสียหายจากน้ำท่วมขังในช่วงฤดูน้ำหลากและอุกทกภัยในพื้นทีได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงยังสามารถช่วยลดปัญหาการจราจรของจังหวัดสมุทรปราการในการใช้ถนนที่เชื่อมโยงถนนสุขุมวิท-เทพารักษ์ และถนนบางนา-ตราด นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งน้ำจืดสำรองเพื่อไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้ถึง 2 ล้านลูกบาศก์เมตร  

พระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมให้กับพื้นที่ ได้บรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

 

ความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญคือ นิคมอุตสาหกรรมบางพลี นิคมอุตสาหกรรมบางปู โรงงานอุตสาหกรรมบริเวณแนวถนนเทพารักษ์ ได้หมดสิ้นไป ทุกข์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บรรเทาลง ด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้สืบสานมาอย่างต่อเนื่องจนถึงรัชสมัยปัจจุบัน.