สผ. เปิดชื่อ “27 เมืองเก่า” ชูโมเดล“เสริมสร้างความรู้-แลกเปลี่ยนแนวคิด”เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนา
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เผยเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ถึงรายชื่อเขตพื้นที่ 27 เมืองเก่าในประเทศไทย ที่ได้รับการประกาศเป็น “เขตพื้นที่เมืองเก่า” ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ อันได้แก่ เมืองเก่าน่าน เมืองเก่าเชียงใหม่ เมืองเก่าลำปาง เมืองเก่ากำแพงเพชร เมืองเก่าลพบุรี เมืองเก่าพิมาย เมืองเก่านครศรีธรรมราช เมืองเก่าสงขลา เมืองเก่าลำพูน เมืองเก่าแพร่ เมืองเก่าเพชรบุรี เมืองเก่าจันทบุรี เมืองเก่าปัตตานี เมืองเก่าเชียงราย เมืองเก่าสุพรรณบุรี เมืองเก่าระยอง เมืองเก่าบุรีรัมย์ เมืองเก่าตะกั่วป่า เมืองเก่าพะเยา เมืองเก่าตาก เมืองเก่านครราชสีมา เมืองเก่าสกลนคร เมืองเก่าสตูล เมืองเก่าสุรินทร์ เมืองเก่าราชบุรี เมืองเก่าภูเก็ต และเมืองเก่าระนอง ซึ่งในเบื้องต้นประเมินว่าต้องใช้งบประมาณในการจัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ไม่ต่ำกว่า 120 ล้านบาท พร้อมชูโมเดลอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า “เสริมสร้างความรู้-แลกเปลี่ยนเรียนรู้” เพื่ออนุรักษ์ พัฒนามรดกทางวัฒนธรรมของไทย และยกระดับเมืองเก่าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่าอันสอดคล้องกับนโยบายการสนับสนุนให้เกิดความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของภาครัฐ
ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนฯ เตรียมจัดการประชุมสัมมนาวิชาการ คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและองค์ความรู้ต่างๆ ระหว่างคณะอนุกรรมการฯ เมืองเก่า จำนวนกว่า 500 คน ทั่วประเทศ สู่แนวทางในการพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่เมืองเก่าอย่างสร้างสรรค์ ในวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2560 เวลา 8.00-16.30 น. ณ อาคารคอนเวนชั่น เซนเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถนนพญาไท กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 02-265-6531 หรือเว็บไซต์ www.onep.go.th
ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผยถึงรายชื่อเมืองเก่า ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และได้รับการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 รวมทั้งสิ้น 27 เมือง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
“กลุ่มที่ 1” (ปี พ.ศ.2548-2554) ประกอบด้วย เมืองเก่าน่าน เมืองเก่าเชียงใหม่ เมืองเก่าลำปาง เมืองเก่ากำแพงเพชร เมืองเก่าลพบุรี เมืองเก่าพิมาย เมืองเก่านครศรีธรรมราช เมืองเก่าสงขลา เมืองเก่าลำพูน และ “กลุ่มที่ 2” (ปี พ.ศ.2558-2560) ประกอบด้วย เมืองเก่าแพร่ เมืองเก่าเพชรบุรี เมืองเก่าจันทบุรี เมืองเก่าปัตตานี เมืองเก่าเชียงราย เมืองเก่าสุพรรณบุรี เมืองเก่าระยอง เมืองเก่าบุรีรัมย์ เมืองเก่าตะกั่วป่า เมืองเก่าพะเยา เมืองเก่าตาก เมืองเก่านครราชสีมา เมืองเก่าสกลนคร เมืองเก่าสตูล เมืองเก่าสุรินทร์ เมืองเก่าราชบุรี เมืองเก่าภูเก็ต และเมืองเก่าระนอง อย่างไรก็ตาม เขตพื้นที่ที่จะได้รับการประกาศเป็น “พื้นที่เขตเมืองเก่า” นั้น จะต้องมีคุณลักษณะสำคัญในด้านต่างๆ ที่ใช้เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาคัดเลือก อาทิ
1) ด้านสุนทรียภาพและคุณค่าทางศิลปะ 2) ด้านตัวแทนอาคารรูปแบบทางศิลปะสถาปัตยกรรม
3) ด้านความหายากหรือสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะพิเศษ 4) ด้านความสำคัญทางประวัติศาสตร์
5) ด้านความสำคัญทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คน เป็นต้น
ทั้งนี้ การประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของสำนักงานนโยบายและแผนฯ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เมืองเก่าในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่าที่มีลักษณะพิเศษหรือโครงสร้างเฉพาะทางกายภาพ โดยที่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ดั้งเดิมของวัฒนธรรม หรือรูปทรงของสถาปัตยกรรมท้องถิ่นได้อย่างเด่นชัดเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่น ผ่านการดำเนินการกำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า และจัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ซึ่งในเบื้องต้นประเมินว่าต้องใช้งบประมาณในการจัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ไม่ต่ำกว่า 120 ล้านบาท โดยเฉลี่ยให้เมืองละ ประมาณ 5 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเมืองเก่าทั้ง 27 แห่งทั่วประเทศ ให้เกิดความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ
ด้าน นายภราเดช พยัฆวิเชียร ประธานอนุกรรมการกลั่นกรองและพิจารณาแผนการดำเนินงานในพื้นที่เมืองเก่า กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าในแต่ละพื้นที่ จะเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่า สู่การยกระดับสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพทั้งในด้านวัฒนธรรมและธรรมชาติ ซึ่งจุดเริ่มต้นของกระบวนการดำเนินงานและวางแผนนั้น จะประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก คือ
ขั้นที่ 1 การระบุ เพื่อเป็นการประกาศว่าพื้นที่นั้นๆ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี สถาปัตยกรรมหรือทางอายุหรือไม่ จากนั้นจึงทำการบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ถ่ายภาพหรือรังวัดเขียนแบบ พร้อมกับทำการประเมินผล และกำหนดขอบเขตพื้นที่ เพื่อวางแนวทางว่าจะดำเนินการอนุรักษ์หรือพัฒนาอย่างไร
ขั้นที่ 2 วิธีการรักษา โดยสามารถเลือกวิธีการรักษาได้ตามความเหมาะสม อาทิ การบูรณะ การสร้างขึ้นใหม่ การฟื้นฟู หรือการย้ายที่ตั้ง
ขั้นที่ 3 การปฏิบัติ การจัดทำแผนงานและโครงการในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า การตั้งคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าแต่ละเมือง เพื่อช่วยในการกลั่นกรองโครงการ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาในพื้นที่เมืองเก่า
ขณะที่ รองศาสตราจารย์โรจน์ คุณเอนก ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ได้กล่าวเสริมถึง โมเดลการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ใน 2 รูปแบบคือ
1) กิจกรรมเสริมสร้างความรู้ จะถูกแบ่งตามกลุ่มเป้าหมายใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประชาชน และกลุ่มเยาวชน โดยที่ “กลุ่มประชาชน” จะเน้นการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนในพื้นที่เมืองเก่าเป็นสำคัญ เพื่อสร้างการตระหนักรู้และจิตสำนึกรักษ์ถิ่นที่อยู่ ผ่านการจัดกิจกรรมปรับภูมิทัศน์ จัดทำแผนที่ชุมชน และจัดสร้างศูนย์เรียนรู้ในชุมชนรวมไปถึงการเชิญชวนกลุ่มคนต่างพื้นที่และนักท่องเที่ยว ร่วมเรียนรู้ประเพณีและวัฒนธรรมในพื้นที่เมืองเก่า เช่น การทำกิจกรรมไหว้พระ 9 วัด กิจกรรมปั่นจักรยานชมเมือง ถนนคนเดิน ฯลฯ ขณะที่ “กลุ่มเยาวชน” จะเริ่มต้นจากการชักชวนเยาวชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมในหลากรูปแบบ ทั้งการอบรมยุวมัคคุเทศก์ท้องถิ่น การจัดกิจกรรมทัศนศึกษาพื้นที่เมืองเก่า ฯลฯ รวมไปถึงประสานความร่วมมือกับโรงเรียนในท้องถิ่น จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ อาทิ การจัดกิจกรรมประกวดภาพวาด ภาพถ่าย หรือค่ายเยาวชนอาสาสมัครอนุรักษ์เมืองเก่า ฯลฯ
2) กิจกรรมแลกเปลี่ยนแนวคิด เป็นการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า รวมถึงเทคนิคต่างๆ ของคณะอนุกรรมการฯ เมืองเก่าที่ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์-พัฒนาเมืองเก่า ทั้งในแง่ของบริหารจัดการ การกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม รวมถึงการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกัน กับคณะอนุกรรมการฯ เมืองเก่าที่ได้รับการประกาศเขตเมืองเก่าชุดล่าสุด ในการนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการเมืองเก่ในพื้นที่รับผิดชอบ สู่การยกระดับเมืองเก่าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่า ทั้งในเชิงวัฒนธรรม และธรรมชาติที่มีความโดดเด่น และรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในเมืองเก่า.♣
“เมืองเก่า” ตามนิยามตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พ.ศ. 2546 หมายถึง เมืองหรือบริเวณของเมืองที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะแห่งสืบต่อมาแต่กาลก่อน และมีเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือมีรูปแบบผสมผสานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นหรือมีลักษณะเป็นรูปแบบวิวัฒนาการทางสังคมที่สืบต่อมาในยุคต่างๆ หรือเคยเป็นเมืองดั้งเดิมในสมัยหนึ่ง หรือโดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือโดยอายุ หรือโดยลักษณะแห่งสถาปัตยกรรม หรือคุณค่าในทางศิลปะ โบราณคดี หรือทางประวัติศาสตร์ ที่ยังคงหลักฐานทั้งกายภาพที่บ่งบอกถึงลักษณะอันเด่นชัดของโครงสร้างเมืองหรือโบราณสถานในอดีต และยังมีการใช้สอยในลักษณะของเมืองที่ยังมีชีวิตอย่างต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน เช่น กรุงรัตนโกสินทร์ เมืองเก่าเชียงใหม่ เมืองเก่าลำพูน และเมืองเก่าลพบุรี เป็นต้น |