Central Regionnewsroyal project

องคมนตรีติดตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในรัชกาลที่ 9

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท โอกาสนี้รับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำของโครงการเขื่อนเจ้าพระยา รวมถึงการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน

เขื่อนเจ้าพระยา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ ตัวเขื่อนมีความยาว 237.50 เมตร สูง 16.5 เมตร เขื่อนมีช่องระบาย 16 ช่อง มีประตูสำหรับเรือผ่าน สามารถเก็บกักน้ำได้ 265 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนฯ

สำหรับการบริหารจัดการน้ำแบ่งเป็นด้านฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยามีการขุดคลองประกอบด้วย คลองชัยนาท – ป่าสัก เริ่มขุดจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอมโนรมย์ผ่านจังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ความยาวทั้งสิ้น 130 กิโลเมตร มีคลองแยกออกจากคลองใหญ่ 66 คลอง และขุดคลองซอยอีก 9 คลอง รวมความยาว 92 กิโลเมตร และคลองชัยนาท – อยุธยา เริ่มขุดจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือทำนบดินเขื่อนเจ้าพระยา ผ่านจังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดลพบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความยาวทั้งสิ้น 110 กิโลเมตร มีคลองซอยแยกออกจากคลองใหญ่นี้ 22 คลอง สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานฝั่งซ้าย รวม 1,462,000 ไร่

สำหรับด้านฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา 1)ใช้แม่น้ำน้อยซึ่งเป็นลำน้ำธรรมชาติชักน้ำออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดบรมธาตุ อยู่เหนือตัวเขื่อนเจ้าพระยา มีคลองซอยขุดแยกจากลำแม่น้ำน้อยทั้งสองฝั่ง ผ่านจังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวม162 คลอง 2)ใช้คลองมะขามเฒ่าต่อกับแม่น้ำสุพรรณซึ่งเป็นลำน้ำธรรมชาติชักน้ำออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดสิงห์เหนือเขื่อนเจ้าพระยา ประมาณ 14 กิโลเมตร มีคลองซอยขุดแยกจาก ลำน้ำนี้ทั้งสองฝั่งผ่านจังหวัดชัยนาท จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นจำนวน 70 คลอง รวมเนื้อที่ชลประทานฝั่งขวา 1,932,000 ไร่


ประโยชน์นอกจากจะเป็นเขื่อนทดน้ำทั้งด้านฝั่งขวาและฝั่งซ้ายและรวมพื้นที่ตอนล่างของทุ่งราบอีก 2,324,000 ไร่ จะมีเนื้อที่ได้รับประโยชน์รวมทั้งสิ้น ประมาณ 5,718,000 ไร่ นอกจากนี้ยังส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างรวม 7.5 ล้านไร่ สามารถผลิตไฟฟ้าพลังสะอาดได้ 61.75 ล้านหน่วย/ปี รวมทั้งยังช่วยควบคุมปริมาณน้ำเสียและน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ป้องกันอุทกภัยในแม่น้ำเจ้าพระยา และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญนำรายได้มาสู่จังหวัดชัยนาทอีกด้วย

ในช่วงบ่าย องคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยังโครงการแก้มลิงท่าฉนวนพร้อมระบบระบายน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือราษฎรหมู่ที่ 9 บ้านสะพานหิน, หมู่ที่ 4 บ้านหลั่น และหมู่ที่ 5 บ้านห้วยยาง รวมทั้งพระภิกษุวัดโพธิ์นิมิต ตำบลท่าฉนวน ที่ประสบความเดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัย น้ำท่วมขังบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร และบริเวณพื้นที่วัดโพธิ์นิมิตรเป็นประจำทุกปี


ต่อมาในปี 2557 คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่กรมชลประทาน เพื่อดำเนินโครงการแก้มลิงท่าฉนวนฯ โดยการขุดขยายบึงบริเวณพื้นที่จำนวน 3 แห่งในลักษณะแก้มลิงโดยมีแนวคลองเชื่อมต่อกันระหว่างบึงเพื่อทำหน้าที่เป็นคลองระบายน้ำจากบึงลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ แนวคลองระบายที่รับน้ำจากบึงทั้ง 3 แห่ง มีการสร้างอาคารชลประทานตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ เช่น ท่อระบายน้ำ ไซฟอนลอดคลองส่งน้ำท่าฉนวน ท่อลอดถนนบริเวณคันคลองส่งน้ำและท่อระบายน้ำบริเวณคันกั้นน้ำเพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยดำเนินการแล้วเสร็จปี 2558 ทำให้สามารถบรรเทาและช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในเขตชลประทานในช่วงฤดูฝนประมาณ 1,500 ไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์ 317 ครัวเรือน รวมทั้งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะและขยายพันธุ์สัตว์น้ำจืด เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย


โอกาสนี้ องคมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะในการนำหญ้าแฝกมาปลูกบริเวณรอบอ่างเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน รวมทั้งขอให้กลุ่มผู้ใช้น้ำหมั่นดูแลบำรุงรักษาและกระจายน้ำอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังได้ร่วมปล่อยพันธุ์ปลาในอ่างเก็บน้ำ เพื่อแพร่ขยายพันธุ์ต่อไป

ขอบคุณกองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร.