newsNorth regionroyal project

องคมนตรี เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน จังหวัดเชียงใหม่

วันพฤหัสบดี ที่ 12 ตุลาคม 2565  นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยนายปวัตร์ นวะมะรัตน รักษาราชการแทนเลขาธิการ กปร. คณะอนุกรรมการฯ และมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินทางไปยังฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านแม่ตุงติง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเชิญถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 50 ถุง ไปมอบแก่ผู้ปฏิบัติงานหน่วยความมั่นคง ฐานปฏิบัติการบ้านจ่อปร่าครี หมวดมวลชนสัมพันธ์ กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 337 กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 333

นอกจากนี้ยังเชิญถุงพระราชทาน จำนวน 543 ถุง พร้อมเสื้อกันหนาวสำหรับเด็ก จำนวน 342 ชุด ไปมอบแก่ผู้แทนราษฎร ผู้ปฏิบัติงาน และเด็กในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ ฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านแม่ตุงติง ฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านดงเย็น ฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านขุนแตะ ซึ่งราษฎรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ในครั้งนี้

โอกาสนี้ องคมนตรี ได้รับฟังบรรยายสรุปและติดตามผลการดำเนินงานของฟาร์มตัวอย่างฯ พร้อมพบปะเยี่ยมเยียนราษฎรถึงชีวิตความเป็นอยู่ และเยี่ยมชมผลผลิต ผลิตภัณฑ์ของราษฎรที่ได้รับการพัฒนา ต่อยอด จากฟาร์มตัวอย่างฯ

ฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านแม่ตุงติง เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดำเนินงานในลักษณะเป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการฝึกอบรมอาชีพด้านต่าง ๆ เช่น ด้านเกษตร ด้านปศุสัตว์ ด้านศิลปาชีพ การทอผ้า การจักสาน การตีมีด การแกะสลักไม้และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนการปลูกไม้โตเร็วไว้ใช้เพื่อป้องกันการตัดไม้ในป่า จากการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริของฟาร์มตัวอย่างฯ ทำให้ราษฎรมีความรู้ในการประกอบอาชีพเกษตรที่ถูกต้อง รู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่ารวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ทำให้ระบบนิเวศไม่สูญเสียความสมดุลธรรมชาติ และสามารถผลิตอาหารได้อย่างไม่จำกัดฤดูกาล ซึ่งเป็นการรักษาฐานทรัพยากรอาหารได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้ยังทำให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ในช่วงเริ่มต้นฟาร์มตัวอย่างฯ ราษฎรมีรายได้เพียง 15,000 บาทต่อครอบครัวต่อปี ปัจจุบันราษฎรมีรายได้จากการประกอบอาชีพโดยเฉลี่ย 70,000 บาทต่อคนต่อปี โดยไม่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานไปประกอบอาชีพในพื้นที่อื่น ชุมชนมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ดีขึ้น เช่น การคมนาคมที่ดีและสะดวก มีแหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตรตลอดทั้งปี ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการดูแลอย่างยั่งยืน ราษฎรต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และมีความหวงแหนในผืนแผ่นดินของตนเอง

ต่อมาในช่วงบ่าย คณะได้เดินทางไปยังโครงการประตูระบายน้ำบ้านแม่ปูคาพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ การนี้ รับฟังบรรยายสรุปและตรวจเยี่ยมโครงการ พร้อมพบปะเยี่ยมเยียนราษฎรและกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อรับทราบชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการได้รับประโยชน์จากโครงการฯ

โครงการประตูระบายน้ำบ้านแม่ปูคาพร้อมระบบส่งน้ำฯ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 ตามที่ราษฎรบ้านแม่ปูคาเหนือ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ขอพระราชทานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแม่ปูคา เพื่อช่วยเหลือราษฎร 4 หมู่บ้าน ตำบลแม่ปูคา ซึ่งประสบปัญหาการพังทลายของดินและวัชพืชปกคลุมลำน้ำ ทำให้ประสิทธิภาพการส่งน้ำและการระบายน้ำลดลง ในปี 2565 คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่กรมชลประทาน เพื่อดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำ ระบบส่งน้ำ ความยาว 292 เมตร

ทั้งนี้การก่อสร้างดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการขยายเขตไฟฟ้า ทำให้สามารถส่งน้ำช่วยเหลือราษฎรบ้านแม่ปูคาเหนือ หมู่ที่ 5 จำนวน 334 ครัวเรือน ราษฎรจำนวน 870 คน รวมถึงใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนลำน้ำแม่ปูคา ในพื้นที่บ้านแม่ปูคาเหนือ ให้ราษฎรมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของราษฎรประมาณ 275 ไร่ (สามารถขยายพื้นที่รับประโยชน์ได้อีก 2,000 ไร่) มีน้ำเพียงพอในการทำเกษตรกรรมได้ตลอดทั้งปี ในขณะเดียวกันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของลำน้ำแม่ปูคาให้ดียิ่งขึ้น สามารถควบคุมปริมาณน้ำในช่วงน้ำหลากให้เหมาะสมกับศักยภาพการรองรับน้ำของพื้นที่ เป็นการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเนื่องจากมีผลผลิตทางการเกษตรอย่างต่อเนื่องและรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ขอบคุณกองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.