Central RegionEditorialHappiness from developmentnewsroyal project

สุขจากการพัฒนา ตอน ส่งเสริมการผลิตสาหร่ายผักกาดทะเล

สาหร่ายผักกาดทะเล เป็นหนึ่งในสาหร่ายทะเลมากกว่า6ชนิดที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรี เก็บรักษาต้นพันธุ์ไว้เนื่องจากเป็นสาหร่ายทะเลที่มีศักยภาพที่จะส่งเสริมเชิงพาณิชย์ในอนาคต

โดยได้พัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเลระดับมหมวล แบบง่ายในบ่อผ้าใบ ถังพลาสติก บ่อปูน และได้มีการขยายผลการเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเลไปยังหน่วยงานต่างๆ อาทิ ฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

ในโอกาสที่พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง  พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการ ฯ พร้อมด้วยนายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ เมื่อวันที่ 29มิถุนายน2566 ได้รับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานและการพัฒนาด้านต่าง ๆ จากผู้แทนกรมประมง การดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบน้ำภายในฟาร์มฯ จากผู้แทนกรมชลประทาน อีกทั้งได้เยี่ยมชมและรับรายงานเรื่องการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเล โดยองคมนตรีได้ให้คำแนะนำว่า ควรให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีไปต่อยอดพัฒนาเมนูอาหารที่ทำขึ้นจากสาหร่ายผักกาดทะเลนี้

ทั้งนี้ นายประพัฒน์  กอสวัสดิ์พัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรี ปฎิบัติหน้าที่หัวหน้าฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เปิดเผยว่า ช่วงปลายปี2565ได้ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเลขึ้น เพราะเป็นสาหร่ายที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมีอายุการเลี้ยงสั้นเพียง3สัปดาห์ ได้ผลผลิตมากกว่า 3 เท่าจากจำนวนต้นพันธุ์ที่ปล่อยลงเลี้ยง มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่า 62 เปอร์เซ็นต์ และยังนำไปแปรรูปเป็นอาหารได้ทุกวิธี

ทางด้านวรรภา อ่อนจันทร์ ฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่นแฟมิลี่ฟาร์ม ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า ทางฟาร์มเป็นหนึ่งใน3ฟาร์มที่ได้รับการชักชวนให้เป็นฟาร์มขยายผลการผลิตสาหร่ายผักกาดทะเล  โดยได้เข้ารับการอบรมการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์เมื่อต้นปี 2566 ทั้งวิธีการเลือกต้นพันธุ์ การเพาะเลี้ยงจนถึงการแปรรูป จากนั้นได้กลับไปทดลองปลูก เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการผลิตสาหร่ายผักกาดทะเลเชิงพาณิชย์

วรรภา เปิดเผยด้วยว่า จากการทดลองเลี้ยงพบว่าสามารถจำหน่ายสาหร่ายผักกาดทะเลในช่วงฤดูฝนที่สาหร่ายพวงองุ่นหยุดการเติบโตได้ เพื่อให้มีรายได้อย่างต่อเนื่องทั้งปี โดยเบื้องต้นทางฟาร์มจะเก็บเกี่ยวสาหร่ายเพื่อนำมาแปรรูปเพียง50% ที่เหลือจะนำไว้ขยายเพื่อการเพาะเลี้ยงต่อไปก่อน โดยเมื่อเก็บเกี่ยวมาแล้วก็จะทำความสะอาดเอาสิ่งสกปรกทิ้งก่อนจะนำไปแปรรูปเป็นอาหาร หรือจำหน่ายสด แต่ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่กรมประมงได้แนะนำให้ผลิตเป็นสาหร่ายแห้งเพื่อง่ายต่อการขนส่งและไม่เสียหายเมื่อถึงมือผู้บริโภค

สำหรับสาหร่ายผักกาดทะเล หรือ Sea Luttuceเป็นสาหร่ายที่รับประทานเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ โดยสามารถทำได้ทั้งต้มผัดแกงทอดยำ มีโปรตีนWสูงถึง25-30กรัมและใยอาหาร9.79เปอร์เซ็นต์ มีไขมันและพลังงานที่ต่ำ อุดมด้วยเกลือแร่วิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ มีกรดอะมิโนจำเป็นสัดส่วนสูงถึง 37-39เปอร์เซ็นต์ของปริมาณกรดอะมิโนรวม เช่น GLUTAMIC ACID และ ASPATIC ACID กรดไขมันกลุ่มของโอเมก้า3 6 และ 9 โดยเฉพาะ EPA และ DHA เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการจะควบคุมลดน้ำหนัก อีกทั้งยังมีสรรพคุณด้านเภสัช ด้านเวชสำอาง และใช้ในอุตสาหกรรมอาหารทั้งคนและสัตว์ได้

การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเล ได้สร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับชาวประมง ไม่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ ที่นับวันจะลดน้อยลงไป

ความหวังในการสร้างอาชีพที่มั่นคงด้วยการเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล เป็นความสุขที่เกิดขึ้นกับชาวประมงไทย เป็นไปตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการก่อตั้งโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างฯแห่งนี้ เพื่อให้ชาวประมงได้มีอาชีพทำกิน พึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเพียงอย่างเดียว

บทความโดย สุวินา เอี่ยมสุทธา

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก กองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร.