องคมนตรี ติดตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร.9 สนองพระราชปณิธาน ร.10
วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.30 น. พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วยนายวิกรม คัยนันทน์ รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองรัตภูมิพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลรัตภูมิ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา
จากนั้นรับฟังบรรยายสรุปโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองรัตภูมิพร้อมระบบส่งน้ำฯ ในการสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2546 ตามที่ราษฎรตำบลบางเหรียง และตำบลรัตภูมิ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ขอพระราชทานโครงการก่อสร้างฝายทดน้ำบริเวณ คลองรัตภูมิ เพื่อช่วยเหลือราษฎรทั้ง 2 ตำบล ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สรุปแนวทางในการช่วยเหลือ และจัดทำรายงานขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย ในการก่อสร้างฝายทดน้ำตอนบนเหนือคลองรัตภูมิ หรือในคลองรัตภูมิ บริเวณหมู่ที่ 11 ตำบลบางเหรียงหรือหมู่ที่ 11 ตำบลรัตภูมิ เพื่อช่วยเหลือราษฎรจำนวน 12 หมู่บ้าน ในตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา จากการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค – บริโภค และทำการเกษตรในฤดูแล้ง
การดำเนินงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สนับสนุนงบประมาณให้กรมชลประทาน ในการดำเนินโครงการฯ ปัจจุบันราษฎร จำนวน 8,400 คน จาก 22 หมู่บ้าน ในเขตตำบลบางเหรียง และตำบลรัตภูมิ มีน้ำอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรได้ผลผลิตที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงปลาเป็นอาชีพเสริม และยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มเติมให้แก่โครงการชลประทานขนาดเล็ก ทั้ง 9 โครงการที่มีอยู่ ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 7,500 ไร่ มีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตรด้านต่าง ๆ ด้วยปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดความชุ่มชื้นในดินและช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน ทำให้ราษฎรสามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ตลอดปีในการสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมชลประทาน ดำเนินการก่อสร้างท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 9 แห่ง และขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจ ออกแบบ เพื่อทำการซ่อมแซมตัวอาคารประกอบ ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไป
โอกาสนี้องคมนตรีได้กล่าวกับราษฎรว่าปัญหาสำคัญของคนคือน้ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานแหล่งน้ำให้ประชาชน แต่ปัจจุบันพื้นที่นี้มีการใช้น้ำเปลี่ยนแปลงไป จึงมีโครงการที่จะทำประตูระบายน้ำและฝายที่คลองภูมิเพิ่มขึ้นเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำคลองภูมิและคลองรัตภูมิ พร้อมขอให้ทุกคนเป็นคนดี มีความสามัคคีแบ่งปันช่วยเหลือกันเพื่อให้สังคมเป็นสุขช่วงบ่าย องคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองหอยโข่งและคลองจำไหรตามพระราชดำริ ตำบลคลองหอยโข่ง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา รับฟังบรรยายสรุปภาพรวมโครงการ พร้อมทั้ง เยี่ยมชมโครงการและผลผลิตจากโครงการ
โดยองคมนตรีได้กล่าวกับราษฎรกับกลุ่มผู้ใช้น้ำว่าขอให้สมัครสมานสามัคคีร่วมมือร่วมใจกัน แบ่งปันกัน ให้คิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตน เพื่อให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้จากนั้น องคมนตรีและคณะฯ ร่วมปล่อยพันธุ์ปลา เพื่อขยายพันธุ์ และเป็นแหล่งอาหารแก่ชาวบ้านในพื้นที่และใกล้เคียงต่อไป
โครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองหอยโข่งและคลองจำไหรตามฯ เกิดขึ้นจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองหอยโข่งและคลองจำไหร เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2524 กรมชลประทานพิจารณาการจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค และการเกษตรกรรมให้แก่ราษฎรในพื้นที่ตำบลคลองหอยโข่งและบางส่วนของตำบลทุ่งลาน อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ประกอบกับหน่วยทหารกองพลพัฒนาที่ 4 (ค่ายรัตนพล) ได้ไปตั้งหน่วยอยู่ในเขตบริเวณดังกล่าว ซึ่งขาดแคลนน้ำในการอุปโภค – บริโภค และในกิจกรรมอย่างอื่นซึ่งต้องจัดหาน้ำให้หน่วยทหารใช้ควบคู่กันไปด้วยโดยมีลักษณะโครงการดังนี้ ฝายคอนกรีตล้วน ขนาดสันฝายยาว 15.40 เมตร สูง 2.50 เมตร พร้อมประตูระบายทราย กว้าง 4.00 เมตร สูง 3.90 เมตร ปริมาณน้ำผ่านสูงสุด 60 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที และผ่านประตู ระบายทรายได้ 35 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ทางระบายน้ำล้นฉุกเฉิน ขนาดกว้าง 100 เมตร ยาว 460 เมตร สามารถระบายน้ำได้ 80 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที และท่อระบายปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย ยาว 23 เมตร ปริมาณน้ำผ่านท่อ 2.185 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที สามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการได้ 8,000 ไร่ และในฤดูแล้งได้ 4,000 ไร่ จัดหาน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค แก่ราษฎรและทหารค่ายรัตนพล จำนวน ประมาณ 500 ครอบครัว ทั้งยังบรรเทาอุทกภัยในเขตอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ของอำเภอคลองหอยโข่ง และพื้นที่ใกล้เคียง
ขอบคุณกองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.