news

องคมนตรี ติดตามโครงการด้านการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริในจังหวัดพังงาและภูเก็ต

วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2567  พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วย พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นายศุภรัชต์ อินทราวุธ รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโรงเรียนทุ่งมะพร้าววิทยา ตำบลทุ่งมะพร้าววิทยา อำเภอท้ายเมือง จังหวัดพังงา ติดตามผลการดำเนินงานโครงการฝายคลองบางใสพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา โดยรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน
จากนั้นพลเอกกัมปนาท ได้กล่าวกับราษฎรว่าปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่นี่ปีละประมาณ2ล้านลูกบาศก์เมตรแต่เก็บกักน้ำได้เพียง1ล้านลูกบาศก์เมตร จึงปรึกษากับพลเอกเฉลิมชัยว่าควรทำฝายชะลอน้ำที่ลงมาจากภูเขาเป็นจุดๆ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ซึ่งจะทำให้ราษฎรมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี และฝากให้ราษฎรร่วมมือกันดูแลฝายและรวมกลุ่มกันบริหารจัดการน้ำให้ได้น้ำใช้อย่างเท่าเทียมกัน
องคมนตรียังกล่าวด้วยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงติดตามงานทุกวัน โดยองคมนตรีได้รับมอบหมายให้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการต่างๆ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระ จึงขอให้ราษฎรสืบสานพระราชปณิธานเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นคนดีของประเทศ
สำหรับโครงการก่อสร้างฝายคลองบางใสพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2553 ตามที่นายสมพงษ์ เหลืองทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งมะพร้าว ขอพระราชทานโครงการฝายคลองบางใสพร้อมระบบส่งน้ำ บ้านขนิม หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งมะพร้าว เพื่อช่วยเหลือราษฎรจำนวน 11 หมู่บ้าน ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง ซึ่งประสบความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในฤดูแล้ง
โดยในปี 2554 กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างฝายทดน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ความยาวสันฝาย 14 เมตร ความสูง 3 เมตร พร้อมระบบท่อส่งน้ำและอาคารประกอบความยาวรวม 3,225 เมตร และถังเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดความจุ 1,500 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 แห่ง ขนาดความจุ 300 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 แห่ง เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคของราษฎร หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง และบริเวณใกล้เคียง โดยมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 ชื่อกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานบ้านขนิม” มีสมาชิก จำนวน 160 ครัวเรือน 665 คน เพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งดูแลรักษาโครงการฯ ให้อำนวยประโยชน์ได้อย่างสูงสุดและยั่งยืน
ปัจจุบันโครงการมีสภาพปกติใช้งานได้ดี สามารถส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่หมู่บ้านหมู่ที่ 7 บ้านขนิม ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง และบริเวณใกล้เคียง จำนวนครัวเรือน 180 ครัวเรือน และจำนวนประชากร 747 คน ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 200 ไร่ ให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในช่วงฤดูแล้ง และเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับหมู่บ้านอื่นๆ บริเวณใกล้เคียง
ในช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะ เดินทางไปยังโรงเรียนบ้านป่าครองชีพ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการฝายคลองพระแทวพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน
พร้อมทั้งพบปะผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการปรับปรุงฝายคลองพระแทวพร้อมระบบส่งน้ำ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 ตามที่ราษฎรตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ขอพระราชทานโครงการขุดลอกแหล่งน้ำพร้อมปรับปรุงระบบ ส่งน้ำและก่อสร้างถังเก็บน้ำบริเวณฝายคลองพระแทว เพื่อช่วยเหลือราษฎรหมู่ที่ 9 บ้านป่าครองชีพ ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง
ปัจจุบันโครงการมีสภาพปกติใช้งานได้ดี สามารถจัดหาน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค และเกษตรกรรมให้ราษฎรบ้านป่าครองชีพ หมู่ที่ 9 ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จำนวนครัวเรือน 264 ครัวเรือน ราษฎรจำนวน 900 คน พื้นที่ เพื่อการเกษตร 124 ไร่ และโรงเรียนบ้านป่าครองชีพ ให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึงตลอดทั้งปี <span;>โดยมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 ชื่อกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานบ้านป่าครองชีพ มีจำนวนสมาชิกกลุ่มพื้นฐาน 10 กลุ่ม เพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อย่างไรก็ตามแม้แหล่งต้นน้ำจากคลองพระแทว จะยังคงมีน้ำป้อนให้กับชุมชน แต่<span;>เนื่องจากชุมชนมีการขยายตัวและมีความต้องการใช้น้ำมากขึ้น <span;>องคมนตรีได้แนะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาหาพื้นที่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว เพื่อก่อสร้างฝายชั่วคราวขึ้นเป็นระยะๆ ในลักษณะขั้นบันได เพื่อเก็บกักน้ำ ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนรวมถึงสัตว์ป่าในพื้นที่ นอกจากนี้ยังต้องหาพื้นที่วางถังพักน้ำ<span;>เป็นจุดๆเพื่อเก็บกักน้ำให้ราษฎรไว้ใช้ <span;>ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ และป้องกันปัญหาน้ำท่วม

ขอบคุณกองประชาสัมพันธ์

สำนักงาน กปร.