newsroyal projectSouth region

บทความเฉลิมพระเกียรติ เรื่อง พัฒนาฝายคลองบางใส คลี่คลายทุกข์ให้ชาวทุ่งมะพร้าว

พื้นที่บ้านขนิม ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาลาดลงไปยังทะเลฝั่งอันดามัน ราษฎรในพื้นที่ส่วนใหญ่ทำอาชีพรับจ้าง มีการทำเกษตรกรรมคือ สวนปาล์ม ยางพารา และสวนผลไม้

นายจุมพล ขอพงษ์ไพบูลย์ อดีตกำนัน ต.ทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำบ้านขนิม เล่าว่า ในอดีตพื้นที่นี้มีการทำเหมืองเก่า จุดที่เจาะบ่อน้ำบาดาลและลำคลองจะมีสภาพเป็นสนิม มีเพียงคลองบางใสที่สามารถนำน้ำมาใช้ได้ ทางโรงเรียนทุ่งมะพร้าววิทยาก็ไม่มีน้ำใช้เช่นกัน ชาวบ้านและเด็กนักเรียนต้องไปต่อท่อจากคลองบางใสนำน้ำมาใช้

“ต่อมาได้ทำหนังสือขอโครงการจากชลประทานไปหลายรอบแต่ไม่ได้ สุดท้ายได้ขอเป็นโครงการพระราชดำริ จนได้รับพระราชทานโครงการลงมา ซึ่งพื้นที่นี้ติดกับอุทยาน นำน้ำไปใช้ในพื้นที่ตำบลทุ่งมะพร้าว”นายจุมพลกล่าว

นายสมพงษ์ เหลืองทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งมะพร้าว จึงขอพระราชทานโครงการฝายคลองบางใสพร้อมระบบส่งน้ำ บ้านขนิม หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งมะพร้าว เพื่อช่วยเหลือราษฎรจำนวน 11 หมู่บ้าน ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง ซึ่งประสบความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในฤดูแล้ง โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างฝายคลองบางใสพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2553

ในปี 2554 กรมชลประทานได้สนองแนวพระราชดำริ โดยนายชัยวัฒน์ ตันเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพังงา กล่าวว่า กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างฝายทดน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ความยาวสันฝาย 14 เมตร ความสูง 3 เมตร พร้อมระบบท่อส่งน้ำและอาคารประกอบความยาวรวม 3,225 เมตร และถังเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดความจุ 1,500 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 แห่ง ขนาดความจุ 300 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 แห่ง เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคของราษฎร หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง และบริเวณใกล้เคียง

ทั้งนี้เมื่อมีการก่อสร้างฝาย ได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 ชื่อกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานบ้านขนิม” มีสมาชิก จำนวน 160 ครัวเรือน 665 คน เพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งดูแลรักษาโครงการฯ ให้อำนวยประโยชน์ได้อย่างสูงสุดและยั่งยืน ปัจจุบันโครงการมีสภาพปกติใช้งานได้ดี สามารถส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่หมู่บ้านหมู่ที่ 7 บ้านขนิม ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง และบริเวณใกล้เคียง จำนวนครัวเรือน 180 ครัวเรือน และจำนวนประชากร 747 คน ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 200 ไร่ ให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในช่วงฤดูแล้ง และเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับหมู่บ้านอื่นๆ บริเวณใกล้เคียง

ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพังงา กล่าวถึงการต่อยอดโครงการด้วยว่า “ระบบท่อส่งน้ำที่สร้างไว้ระยะทางกว่า 3กิโลเมตร ยังไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของราษฎร กลุ่มผู้ใช้น้ำต้องการให้ขยายระบบท่อส่งน้ำออกไปเพิ่มเติมอีกประมาณ 5กิโลเมตร และพิจารณาเพิ่มบ่อพักน้ำ โดยปัจจุบันพบจุดที่สามารถสร้างบ่อพักน้ำได้แล้ว 1แห่ง และกำลังประสานหาจุดสร้างบ่อพักน้ำเพิ่มขึ้น เป็นการต่อยอดโครงการเพื่อให้ราษฎรได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น”

ขณะที่ นายจุมพล ขอพงษ์ไพบูลย์ อดีตกำนัน ต.ทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา กล่าวว่า จากการที่สร้างโครงการมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า10ปี ชาวบ้านได้รับประโยชน์จากน้ำมาก แต่เกิดปัญหาในช่วง 3-4ปีที่แล้ว มีดินสไลด์ลงมาถมแหล่งน้ำทำให้ตื้นเขิน ขณะที่ชุมชนไม่สามารถนำเครื่องจักรเข้าไปขุดลอกได้ จะต้องประสานขอความช่วยเหลือ เพื่อให้เก็บกักน้ำได้มากขึ้น มีน้ำใช้ในฤดูแล้ง

“ปัจจุบันยังใช้ได้ แต่ไม่เพียงพอ ถ้าสามารถขุดลอกหน้าฝายได้ จะช่วยชาวบ้านได้มากขึ้น” นายจุมพลกล่าว

ในโอกาสที่พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วย พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นายศุภรัชต์ อินทราวุธ รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโรงเรียนทุ่งมะพร้าววิทยา ตำบลทุ่งมะพร้าววิทยา อำเภอท้ายเมือง จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2567 ได้ติดตามผลการดำเนินงานโครงการฝายคลองบางใสพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา โดยองคมนตรียังได้กล่าวกับราษฎรว่า จากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่นี่ปีละประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตรแต่เก็บกักน้ำได้เพียง 1 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงแนะนำให้ทำฝายชะลอน้ำกั้นเส้นทางน้ำที่ลงมาจากภูเขาเป็นระยะๆ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี และฝากให้ราษฎรร่วมมือกันดูแลฝายและรวมกลุ่มกันบริหารจัดการน้ำให้ได้น้ำใช้อย่างเท่าเทียมกัน

นายจุมพล ขอพงษ์ไพบูลย์ มีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบรรเทาความทุกข์ให้กับราษฎร “เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ท่านได้ทรงโปรดฯมอบฝายพระราชทานเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยให้ชาวบ้านลดปัญหาขาดแคลนน้ำ ต้องซื้อน้ำใช้มาซักผ้า เพราะบ่อที่บ้านขนิมนั้นสมชื่อ ดูได้จากน้ำในคลองและบ่อเป็นสนิม ได้น้ำพระทัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โครงการพระราชดำริมาช่วยชาวบ้านตำบลทุ่งมะพร้าว ได้นำน้ำมาใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรอุปโภคบริโภคได้นะครับ โรงเรียนได้ใช้ตลอดครับ แต่ก่อนโรงเรียนต้องเสียค่าไฟหมื่นกว่าบาท สูบน้ำมาใช้ ปัจจุบันโรงเรียนประหยัดได้เป็นหมื่นครับ ไม่ต้องสูบน้ำจากบ่อขึ้นมา แม้สูบน้ำจากบ่อก็เป็นสนิม แต่น้ำจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริสามารถนำไปใช้ได้เลย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไร”

พระมหากรุณาธิคุณที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานโครงการก่อสร้างฝายคลองบางใสพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้คลี่คลายทุกข์ให้ราษฎรทุ่งมะพร้าวให้มีน้ำสะอาดใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตร ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาให้กับราษฎรในชุมชนที่มีการขยายตัว ให้มีน้ำใช้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี.

บทความและภาพโดย สุวินา เอี่ยมสุทธา