Healthnews

ภัยใกล้ตัว “จมน้ำ-สูดฝุ่นควัน” ทำลายชีวิต-ทำร้ายสุขภาพ อธิบดีคร.แนะมาตรการลดเสี่ยง

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์เด็กจมน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 28 มีนาคม 2561 พบเด็กจมน้ำ 12 เหตุการณ์ เสียชีวิต 21 ราย บาดเจ็บ 12 ราย  โดยช่วงปิดเทอมปีนี้ผ่านมา 28 วัน (1 -28 มีนาคม 2561)  มีเด็กจมน้ำ 6 เหตุการณ์ เสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บ 6 ราย เกือบทั้งหมดเป็นเด็กวัยเรียน อายุ 5-13 ปี  ข้อมูล 10 ปีย้อนหลัง (ปี 2551-2560) มีเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 957 คนต่อปี หรือวันละเกือบ 3 คน ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมเป็นเดือนที่เด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด เพราะตรงกับช่วงปิดเทอมและช่วงฤดูร้อน โดยแหล่งน้ำที่เด็กจมน้ำและเสียชีวิตมากที่สุด คือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ร้อยละ 44.9 และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ว่ายน้ำไม่เป็น

“จึงขอเตือนผู้ปกครองว่าในช่วงนี้ให้ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้เด็กชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง และขอให้ทุกชุมชนดำเนินการดังนี้ 1.สำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน 2.เฝ้าระวังและแจ้งเตือนในชุมชน เช่น ประกาศเสียงตามสาย คอยตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง 3.จัดการแหล่งน้ำเพื่อให้เกิดความปลอดภัย เช่น สร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง (ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ไม้) และ 4.สอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น  ที่สำคัญหากพบเห็นคนตกน้ำไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ แต่ขอให้ช่วยด้วยการใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่ 1.ตะโกน คือ เรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669  2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น  และ 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ”อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นอกจากนี้ นายแพทย์สุวรรณชัย ยังกล่าวถึง สถานการณ์หมอกควันทางภาคเหนือยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีหลายจังหวัดที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM 10) สูงเกินค่ามาตรฐานในบางพื้นที่ และปัญหาหมอกควันดังกล่าวอาจส่งผลกระทบทางสุขภาพต่อประชาชนได้ โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษตั้งแต่วันที่ 1 – 30 มีนาคม 2561 ค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานเริ่มส่งผลต่อประชาชนตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2561 เป็นต้นมา จากสถานการณ์การเจ็บป่วยในพื้นที่ 9 จังหวัด ทางภาคเหนือตอนบน ช่วงวันที่ 11-17 มีนาคม 2561 ของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ พบว่ากลุ่มเด็กเล็ก (แรกเกิด- 4 ปี) และกลุ่มวัยเรียน (5-14 ปี) ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจมากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ ในกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากที่สุด รองลงมาคือโรคผิวหนังอักเสบ

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า 4 กลุ่มโรคที่ประชาชนต้องระวังเป็นพิเศษ คือ โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตาอักเสบ และโรคผิวหนังอักเสบ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด หอบหืด ภูมิแพ้ เป็นต้น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กเล็ก และหญิงตั้งครรภ์ สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควัน ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตนตามคำแนะนำ ดังนี้

  1. ปิดประตูหน้าต่างบ้านให้มิดชิด หมั่นทำความสะอาดบ้านสม่ำเสมอ เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก
  2. สวมหน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ เช่น N95

3.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย และการทำงานหนักที่ออกแรงมากหรือที่กลางแจ้ง

4.ติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด

“ในโอกาสนี้ ขอแนะนำให้ประชาชนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ติดตามสถานการณ์ และเตรียมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลหากมีความจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าเกินมาตรฐาน การขับขี่ยานพาหนะในช่วงที่มีหมอกควันมาก ทัศนะวิสัยไม่ดี ควรเปิดไฟหน้ารถ ขับรถด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ  ทั้งนี้  หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว