Central RegionEditorialnewsroyal projectRoyal Story

ร้านค้าศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ช่องทางตลาดของเกษตรกร

หมวกสานและกระเป๋าสานจากป่านศรนารายณ์ ตะกร้าเสื่อกระจูด ผ้าทอพื้นเมือง ถ่านดูดกลิ่น กล้วยกรอบ เป็นตัวอย่างผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลผลิตการเกษตร ที่ถูกนำมาวางจำหน่ายในร้านค้าบริเวณด้านหน้าศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรสมาชิกศูนย์ฯจากทั่วประเทศ ที่ได้รับองค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6แห่งทั่วประเทศ และเกษตรกรมีการพัฒนาสินค้าจนมีรูปลักษณ์ที่น่าสนใจและราคาถูก เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค

นอกจากนี้ยังมีพืชผักอินทรีย์ และผลไม้ จำหน่ายในราคาถูก เพื่อให้ประชาชนในละแวกใกล้เคียง ได้มีพืชผักสวนครัวที่ปลอดภัยบริโภค ที่จะส่งผลดีต่อสุขภาพ

มุมด้านหัวและท้ายของบริเวณร้านค้า ยังมีร้านกาแฟและเบเกอรี่ ผลิตภัณฑ์ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และร้านอาหารที่นำผลผลิตของศูนย์ฯมาปรุงจนมีรสชาติอร่อย จำหน่ายในราคาถูก โดยเจ้าหน้าที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริเปิดเผยด้วยว่า หากผู้ใดสนใจอาหารชนิดใด ก็สามารถติดต่อขอเข้าเรียนรู้วิธีการปรุงอาหารชนิดนั้นได้

นอกจากนี้ด้านหลังของร้านกาแฟ ยังมีบริเวณจำหน่ายต้นไม้ทั้งไม้ผลและไม้ประดับ รวมถึงพืชผักสวนครัว ในราคาที่จับต้องได้

ระยะเวลาเพียงไม่นานหลังจากที่ร้านค้าแห่งนี้เปิดขึ้น เริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชนและนักท่องเที่ยว มาจับจ่ายซื้อสินค้าไปบริโภคและใช้สอย โดยศูนย์ยังได้จัดเตรียมพื้นที่จอดรถด้านหน้าอย่างกว้างขวาง รองรับรถบัสที่จะแวะมาจอดอุดหนุนสินค้าเกษตรปลอดภัยและสินค้าของสมาชิกศูนย์ฯได้อย่างต่อเนื่องทุกวัน

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นหนึ่งใน  6ศูนย์ศึกษาฯ ที่ดำเนินการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการให้ความรู้ แก้ไขปัญหาด้านการเกษตร และเปิดอบรมแก่ประชาชน ในรูปแบบ One Stop Service

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ศูนย์แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526 ความโดยสรุปว่า “… ให้พัฒนาพื้นที่เป็น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านการเกษตรกรรม โดยเน้นการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กลับ อุดมสมบูรณ์ดังเดิม สามารถทำการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการปลูกป่า จัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน การปลูกป่าและการเพาะปลูกพืช จัดระเบียบให้ราษฎรในพื้นที่โครงการให้เข้าอยู่อาศัย และทำกิน อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและสอดคล้องกับธรรมชาติ ให้ราษฎรเข้าร่วมดูแลรักษา ตลอดจนได้อาศัย ผลผลิตจากป่าและเพาะปลูกพืชต่าง ๆ โดยไม่ต้องเข้าไปบุกรุกทำลายป่าไม้อีกต่อไป…”

 อีกทั้งยังเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรและทรงติดตามผลการดำเนินงาน จำนวน 11 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำรวมถึงเครือข่ายอ่างเก็บน้ า (อ่างพวง) การฟื้นฟูสภาพป่าไม้โดยใช้ระบบป่าเปียกและภูเขาป่า การปลูกไม้โตเร็วเพื่อใช้ในการเผาถ่าน การปรับปรุงดินเสื่อมสภาพ การทำเกษตรในรูปแบบทฤษฎีใหม่ การทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการพังทลายของดิน การผสมพันธุ์พืช ลูกผสมสองชั้นในพืชผักที่รับประทานผล การอนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ การพัฒนาพลังงานทดแทน และการพัฒนาอาชีพ เป็นต้น