Economics NewsLabour Newsnews

ตรวจสอบ 28+1 อาชีพห้ามต่างด้าวทำ หลังก.แรงงานปลดล็อค 39 อาชีพสงวนสำหรับคนไทย

ตามที่ คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ได้มีการประชุม ที่ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2561 โดยพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบตามกรมการจัดหางานในฐานะฝ่ายเลขานุการเสนอประเด็นเกี่ยวกับ

1)งานที่ปลดล็อคให้คนต่างด้าวทำได้ 1 งาน ได้แก่ กรรมกร ซึ่งแรงงานต่างด้าวจะต้องเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย

2)งานห้ามทำโดยมีเงื่อนไข จำนวน 11 งาน โดยคนต่างด้าวต้องเป็นลูกจ้างเท่านั้น ซึ่งงานที่ขาดแคลนแรงงานในปัจจุบันมี 8 งาน และจะอนุญาตให้ทำได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยไม่กระทบต่อโอกาสการมีงานทำของคนไทย ได้แก่

 

และงานที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งคนต่างด้าวต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามกฎหมายไทยก่อนขอรับใบอนุญาตทำงาน มี 3 งาน ได้แก่

1)ควบคุม ตรวจสอบ ปฏิบัติงานหรือให้บริการทางบัญชี ยกเว้น ตรวจสอบภายในเป็นครั้งคราว งานตามข้อตกลงหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพัน โดยที่สภาวิชาชีพบัญชีเป็นผู้ให้การรับรองคุณสมบัติ

2)งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ จัดระบบ วิจัย วางโครงการทดสอบ ควบคุมการก่อสร้างหรือให้คำแนะนำ ยกเว้นผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน (MRAs) รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นที่เกี่ยวกับการให้บริการวิศวกรรมข้ามแดน หรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธาตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร

3)งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานออกแบบ เขียนแบบ ประมาณราคา อำนวยการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ ยกเว้นผู้ประกอบวิชาชีพตามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน (MRAs)

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า งานที่ ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด มี 28 งาน แบ่งเป็นงานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ไทยและส่งเสริมการสืบทอดภูมิปัญญาไทย จำนวน 16 งาน ได้แก่ 1)แกะสลักไม้ 2)ทอผ้าด้วยมือ 3)ทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องไม้ด้วยกก หวาย ปอฟาง หรือเยื่อไม้ 4)ทำกระดาษสาด้วยมือ 5)ทำเครื่องเขิน 6)ทำเครื่องดนตรีไทย 7)ทำเครื่องถม 8)ทำเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก 9)ทำเครื่องลงหิน 10)ทำตุ๊กตาไทย 11)ทำบาตร 12)ทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมด้วยมือ 13)ทำพระพุทธรูป 14)ทำร่มกระดาษหรือผ้า 15)เรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ 16)สาวหรือบิดเกลียวไหมด้วยมือ และงานที่คำนึงถึงโอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทย จำนวน 11 งาน ได้แก่ 1)ขับขี่ยานยนต์ในประเทศหรือขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกลในประเทศ ยกเว้นขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ 2)ขายของหน้าร้าน 3)ขายทอดตลาด 4)เจียระไนหรือขัดเพชรหรือพลอย 5)ตัดผม ดัดผม หรืองานเสริมสวย 6)นายหน้า หรืองานตัวแทน ยกเว้นงานนายหน้าหรืองานตัวแทนในธุรกิจการค้าหรือการลงทุนระหว่างประเทศ 7)มวนบุหรี่ด้วยมือ 8)มัคคุเทศก์ หรืองานจัดนำเที่ยว 9)เร่ขายสินค้า 10)เสมียนพนักงานหรือเลขานุการ และ 11)ให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี ยกเว้นงานปฏิบัติหน้าที่อนุญาโต หรืองานให้ความช่วยเหลือหรือทำการแทนในการดำเนินกระบวนการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ ในกรณีที่กฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการนั้นมิใช่กฎหมายไทย และงานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ไทยฯ และคำนึงถึงโอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทย 1 งาน ได้แก่ นวดไทย เป็นต้น ส่วนงานขายของหน้าร้านคนต่างด้าวสามารถทำได้ แต่ต้องมีนายจ้างเจ้าของร้าน ซึ่งเป็นคนไทยคอยกำกับดูแล และพนักงานขับรถในสถานประกอบการคนต่างด้าวสามารถทำได้ แต่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่ ทั้งนี้ การกำหนดอาชีพสงวนกระทรวงแรงงานจะพิจารณาให้คนไทยมีงานทำ โดยไม่กระทบต่อโอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทย การส่งเสริมภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ไทย ความต้องการแรงงานเท่าที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ความผูกพันหรือพันธกรณีระหว่างประเทศ และความมั่นคงของชาติเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ รมว.แรงงาน ได้มอบหมายให้กรมการจัดหางาน เพิ่มเติมรายละเอียดคำนิยามของลักษณะงานแต่ละประเภทตามที่คณะกรรมการฯ เสนอในที่ประชุม และแจ้งเวียนให้คณะกรรมการรับทราบ ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนามในประกาศกระทรวงแรงงาน เพื่อเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านภายใน 1 – 2 เดือนกระทรวงแรงงานจะเน้นสร้างการรับรู้ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบถึงแนวทางการปฏิบัติในการจ้างคนต่างด้าวทำงานที่ถูกต้อง และจะประเมินผลเป็นระยะก่อนดำเนินการทางกฎหมายในลำดับต่อไป