Environmentnews

สทนช.เตรียมถอดบทเรียนบริหารจัดการน้ำถ้ำหลวง บูรณาการข้อมูลสู่แผนจัดการน้ำเชิงพื้นที่ เผยเหตุน้ำในถ้ำลดยาก-สูบออกถึง 1.5 ล้านลบ.ม.

               นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 11 ก.ค.หลังเป็นประธานการประชุมซักซ้อมการปฏิบัติการตามแผนฟื้นฟูภายหลังการช่วยเหลือผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวงขุนน้ำ-นางนอน ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมอุทยานฯ และกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ณ ที่ว่าการอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย ว่าจากการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินสถานการณ์ถ้ำหลวงฯ หลังเสร็จสิ้นภารกิจกู้ภัยทีมหมูป่าทั้ง13คนออกจากถ้ำหลวงเป็นผลสำเร็จด้วยดี พบว่าขณะนี้ในหลายจุดที่เคยเป็นจุดสูบน้ำจากถ้ำหลวงฯ เช่น  บริเวณหน้าถ้ำหลวง จุดเจาะน้ำบาดาล และบริเวณถ้ำทรายทอง ทั้งหมดได้หยุดสูบน้ำแล้ว โดยจะปล่อยให้น้ำระบายตามธรรมชาติ เพื่อฟื้นคืนระบบนิเวศ ยกเว้นฝายกั้นน้ำทั้งสองจุดที่ดอยผาหมีและดอยผาฮี้แล้ว ซึ่งเป็นฝายชั่วคราวที่คาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเริ่มรื้อถอนอีก 3 วัน เนื่องจากยังต้องจัดเก็บอุปกรณ์ที่ใช้ในการกู้ภัยออกจากพื้นที่ ซึ่งเหลือเพียง 5% ของอุปกรณ์ทั้งหมด

          อย่างไรก็ตาม นอกจากการประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์น้ำในการบริหารจัดการน้ำระยะต่อไปแล้ว สทนช.จะใช้วิกฤติการถ้ำหลวงฯ ครั้งนี้เป็นโอกาสให้ทุกหน่วยงานด้านน้ำร่วมกันถอดบทเรียนจากข้อมูลที่ทุกหน่วยงานได้ร่วมกันศึกษาวิเคราะห์แหล่งที่มาของน้ำ ตาน้ำ น้ำที่ซึมเข้าถ้ำที่ได้นำข้อมูลของประชาชนในไนที่ รวมกับข้อมูลในเชิงเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ นำมาสู่มาตรการระบายน้ำถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เพื่อช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่า ซึ่งจากข้อมูลพบว่าช่วงวันที่ 20-21 มิ.ย.ก่อนที่เด็กๆเข้าถ้ำหลวงวันที่ 23 มิ.ย.นี้มีฝนตกมาก ทำให้ปริมาณน้ำในถ้ำเพิ่ม ต่อมาวันที่ 25-27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็มีฝนตกมากกว่า 100 มิลลิเมตร ทำให้การบริหารจัดการน้ำในถ้ำเป็นไปได้ยาก เนื่องจากความไม่ต่อเนื่องของแอ่งภายในถ้ำและน้ำไหลไม่สะดวก แต่จากการประเมินการทำงานร่วมกัน ใช้การตัดยอดน้ำออก โดยมีการสูบน้ำภายในถ้ำออกมา 2 วิธีคือ สูบออกจากปากถ้ำ แต่วิธีนี้ใช้ไม่ได้ต่อเนื่องทำให้ต้องมีการสูบน้ำบาดาลเพิ่ม เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าถ้ำ ประกอบกับพบว่ามีน้ำที่บริเวณถ้ำทรายทอง จึงต้องใช้วิธีติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่จากภาคเอกชน เข้ามาช่วยลดปริมาณน้ำในถ้ำทรายทอง รวมทั้งมีการทำฝายที่สามารถดักน้ำไม่ให้เข้าถ้ำหลวงได้ มีปริมาณ 32,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งหากรวมปริมาณน้ำที่สูบออกและผันจากทั้งสองจุดคิดเป็นปริมาณน้ำถึง 1.5 ล้านลูกบาศกเมตร

          ดังนั้น สทนช.จะเร่งประชุมหารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้องในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อร่วมกันวางมาตรการแผนบริหารจัดการน้ำจากแหล่งน้ำขอวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ทั้งระยะกลาง และระยะยาว ทั้งในเขตและนอกเขตพื้นที่ โดยจะนำเอาน้ำซึม น้ำซับไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตร การเก็บกักน้ำจากถ้ำฯ รวมถึงแหล่งน้ำอื่นๆ ในช่วงฤดูฝน ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งได้เต็มศักยภาพ เพื่อนำไปสู้แผนบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำของประเทศโดยเร็วต่อไป

          นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับน้ำที่ท่วมตามพื้นที่การเกษตรรอบถ้ำหลวง พบว่า ขณะนี้ระดับน้ำเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว เกษตรกรสามารถกลับมาทำการเกษตรในพื้นที่ได้แล้ว ส่วนบางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ หากยังมีน้ำท่วมขังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้รองรับหากจังหวัดมีการร้องขอ ขณะที่เกษตรกรในอ.แม่สาย ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่เกษตรรวม 4 ตำบล พื้นที่กว่า 1,200 ไร่ เนื่องจากการระบายน้ำจากถ้ำหลวงนั้น ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการขอวงเงินชดเชย 1.4 ล้านบาทไว้แล้ว และคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินชดเชยได้ภายในเดือนก.ค.นี้