ถึงคราว “พิพิธภัณฑ์” ต้องปรับตัว ใช้สื่อให้เข้ากับยุคสมัย ไม่ใช่แค่แหล่งเก็บโบราณวัตถุ-งานศิลปะ
นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และการเข้ามาของเทคโนโลยี ทำให้พิพิธภัณฑ์กำลังเข้าสู่กระบวนการปรับตัวครั้งใหญ่ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องปรับตัวคือ สื่อพิพิธภัณฑ์ หรือ “Museum Media” อันได้แก่สิ่งของต่างๆ ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ โดยปัจจุบัน มิวเซียมสยามมีการใช้งานสื่อพิพิธภัณฑ์ใน 2 กลุ่ม ได้แก่ สื่อดิจิทัล (Digital Media) และสื่อวัสดุอุปกรณ์ (Non-digital Media) โดยทั้ง 2 กลุ่มมีการใช้งานและหน้าที่ ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
นายราเมศ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ มิวเซียมสยาม ร่วมกับ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ฟิลิปปินส์ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย (GOETHE-INSTITUT Thailand) ศูนย์ภูมิภาคโบราณคดี และวิจิตรศิลป์ในองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SPAFA) ตลอดจนภาคีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ จัดงานประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์อาเซียน “ASEAN Museum Forum 2018” ภายใต้แนวคิด “สื่อพิพิธภัณฑ์” หรือ “Museum Media” ระหว่างวันที่1-2 ส.ค.นี้ โดยภายงานดังกล่าวมีการพูดคุยในประเด็นเกี่ยวกับสื่อพิพิธภัณฑ์ อาทิ กลยุทธสื่อพิพิธภัณฑ์ สำหรับการเชื่อมต่อพิพิธภัณฑ์กับผู้ชมชาวเมารี โดย พัวไว เครนส์ หัวหน้าฝ่ายวัตถุสะสมชาวเมารี พิพิธภัณฑ์แห่งชาตินิวซีแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ที่นำเสนอการใช้สื่อพิพิธภัณฑ์ เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับนิทรรศการ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และ พิพิธภัณฑ์ทันสมัยกับข้อท้าทายในโลกดิจิทัล โดย ฮันส์ดีเทอร์ ฮาน อดีตภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ชาวยิว ประเทศเยอรมัน ที่แนะนำการใช้สื่อพิพิธภัณฑ์ท่ามกลางข้อจำกัดและการเปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิตัล เป็นต้น นอกจากนี้ ในฐานะพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ต้นแบบ ที่มีการใช้งานสื่อพิพิธภัณฑ์อันหลากหลาย เพื่อให้พิพิธภัณฑ์อื่นๆ ในประเทศไทย ได้หยิบยกนำเอาแนวทางการใช้สื่อพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว ไปประยุกต์ใช้กับพิพิธภัณฑ์ของตนได้ ตามความเหมาะสม เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และสอดคล้องกับศักยภาพด้านงบประมาณที่แตกต่างกันไป มิวเซียมสยาม ยังได้จัดแสดงสื่อพิพิธภัณฑ์ อาทิ หุ่นจำลองนางกวัก และคำบรรยายอักษรเบรลล์ สำหรับผู้พิการทางสายตา เพื่อให้นิทรรศการเป็นพื้นที่สำหรับคนทุกกลุ่ม เกมกระดานประกอบนิทรรศการ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับมารยาท ประเพณี และเทศกาลไทย ที่ช่วยเพิ่มความเข้าใจได้ชัดเจน และมอบความเพลิดเพลินมากกว่าการเล่าเรื่องด้วยรูปแบบเดิมๆ แก่ผู้เข้าชม และ เทคโนโลยีสื่อเสมือน (AR) ที่ผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับตัวนิทรรศการ สร้างความน่าสนใจ น่าค้นหา ให้ผู้เข้าชมได้ร่วมสนุกไปกับนิทรรศการ เป็นต้น “ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคเอกชนระดับโลกในต่างประเทศ ได้หยิบยกนำเอา “พิพิธภัณฑ์” มาใช้งานในฐานะสื่อการสื่อสารเชิงการตลาด และการท่องเที่ยว ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการ ที่เล่าเรื่องราว สะท้อนอัตลักษณ์องค์กร และสามารถสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ให้กับบริษัทได้จำนวนมาก อาทิ พิพิธภัณฑ์รถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู พิพิธภัณฑ์เวิลด์ออฟโคคาโคล่า พิพิธภัณฑ์ฟงดาซิญง หลุยส์ วิตตอง เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพิพิธภัณฑ์ ในฐานะ “สื่อการสื่อสารแห่งอนาคต” ที่มากไปกว่าการส่งเสริมการเรียนรู้เท่านั้น” นายราเมศ กล่าวทิ้งท้าย ด้าน มร.ฮันส์ดีเทอร์ ฮาน อดีตภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ชาวยิว ประเทศเยอรมัน (Mr. Hans-Dieter Hanh, Former Curator, Jewish Museum, Berlin, Germany) กล่าวว่า ความสนใจ และความคาดหวังของผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์นั้นเปลี่ยนแปลงไป จากอดีตที่ผู้คนมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์เพื่อชมของสะสม หรืองานศิลปะชิ้นเอก แต่ปัจจุบัน ในยุคที่เทคโนโลยี และโลกดิจิตัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ผู้เข้าชมจำนวนมากคาดหวังให้พิพิธภัณฑ์สามารถมอบการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับความสนุกสนานในการเข้าชม ดังนั้น ทุกพิพิธภัณฑ์ต้องรู้จักปรับปรุงแนวทางการใช้งานสื่อพิพิธภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ ควรเลือกใช้ และประยุกต์สื่อพิพิธภัณฑ์หลากหลายรูปแบบให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย อาทิ หากกลุ่มเป้าหมายของพิพิธภัณฑ์เป็นเด็ก และเยาวชน พิพิธภัณฑ์ควรเลือกใช้สื่อพิพิธภัณฑ์ที่เน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วม ผสมผสานการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และสร้างความสนุกสนาน หรือหากกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้ที่มีอายุ การใช้สื่อที่เน้นการใช้เทคโนโลยีจำนวนมาก ก็อาจจะไม่เหมาะกับพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว เป็นต้น นอกจากนี้ ไม่ควรจัดแสดงนิทรรศการเดิมโดยไม่มีการปรับปรุงเนื้อหา และแนวทางการนำเสนอ เป็นเวลายาวนาน เนื่องจากจะทำให้ความน่าสนใจของนิทรรศการลดน้อยลง ผู้เข้าชมลดน้อยลง และไม่เข้าถึงผู้เข้าชมกลุ่มใหม่ๆ ได้ จนทำให้พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวตายลง♣ |