newspictures of the weekSocial development

สค. ส่งเสริมสตรีและครอบครัวให้ ‘เก่ง ดี มี อาชีพ’ มอบเกียรติบัตร 7 บุคคลตย. ฝึกอาชีพแล้วนำไปใช้ได้จริง

          นนทบุรี(11 กันยายน 2561) นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานเปิดโครงการมหกรรม เพื่อขับเคลื่อนภารกิจการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพผู้ประสบปัญหาทางสังคมให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมอบเกียรติบัตรยกย่องเชิดชูบุคคลที่เป็นคนเก่ง ดี และมีอาชีพ ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคกลาง จังหวัดนนทบุรี โดย นางลักษณา อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคกลาง จังหวัดนนทบุรี กล่าวรายงาน กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมงานครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้รับบริการรุ่นที่ 61 คณะเจ้าหน้าที่ ครู และนักเรียนจากโรงเรียนนครนนท์วิทยา 4 รวมทั้งสิ้น 250 คน

          นายเลิศปัญญา กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) มีภารกิจในการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพผู้ประสบปัญหาทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ถูกเลิกจ้าง ว่างงาน หรือผู้มีรายได้น้อย การขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวโดยศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว ที่อยู่ภายใต้ สค. ซึ่งมีอยู่ 8 แห่งทั่วประเทศ มุ่งให้สตรีและครอบครัวสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีผู้สำเร็จการฝึกอบรมจากศูนย์ฯ ไปเป็นจำนวนมาก และหลายคนประสบความสำเร็จในการมีงานทำ มีอาชีพมั่นคง ส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

          นายเลิศปัญญา กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่จบการฝึกอาชีพจากศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวไปแล้ว ทาง สค. ได้ติดตามดูความเจริญก้าวหน้าของพวกเขาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเห็นได้ว่าชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และส่วนใหญ่เมื่อประสบความสำเร็จ พวกเขาก็ยังกลับบมาถ่ายทอดความสำเร็จให้น้องๆ รุ่นหลังๆ ต่อไปอีกด้วย

          ทั้งนี้ภายในงาน นอกจากการจัดแสดงนิทรรศการความรู้รณรงค์ป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การสงเคราะห์และคุ้มครองเด็ก และการป้องกันการค้าประเวณี แล้วยังจัดแสดงผลงานและผลิตภัณฑ์จากผู้เข้ารับการฝึกวิชาชีพ รุ่นที่ 61

          รวมถึงมีการมอบเกียรติบัตร “คนเก่ง ดี มีอาชีพ” ให้แก่ศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ จำนวน 7 ราย ซึ่งเป็นตัวอย่างของผู้ที่เคยเข้ารับการฝึกอาชีพจากศูนย์ฯ และนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ได้จริงในการประกอบอาชีพ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีเวลาดูแลครอบครัว ส่งผลให้ครอบครัวมีความอบอุ่นและเข็มแข็ง ได้แก่ มุจลินท์ ผาติชล (นก) แผนกตัดผมชาย “เมื่อก่อนว่างงาน ไม่มีรายได้ ปัจจุบันสามารถเปิดร้านแฮปปี้บาร์เบอร์เป็นของตนเอง ทำให้มีรายได้ช่วยเหลือครอบครัวและมีชีวิตดีขึ้น” การเกณ วิสิทธิ์ (เกด) แผนกตัดเย็บเสื้อผ้า “เดิมเป็นพนักงานแคชเชียร์ในบริษัทเงินเดือนน้อย มีค่าใช้จ่ายเยอะ หลังฝึกอบรมเสร็จได้นำความรู้มาใช้จริง ทำให้มีอาชีพเป็นของตัวเอง ไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร และมีรายได้ดีขึ้นกว่าเดิม” ทิวาพร วรรณโร (เกด) แผนกนวดแผนไทย “เดิมเป็นเกษตรกร ปัจจุบันเป็นพนักงานร้านนวดที่ตลาดนัดจตุจักร และสามารถนำความรู้ไปใช้ดูแลสุขภาพของตนเอง และคนในครอบครัว ที่สำคัญมีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้นด้วย”

          จรรยา สามิโส (จ๊ะเอ๋) แผนกเสริมสวยสตรี 2 “เมื่อก่อนทำงานโรงงาน ตอนนี้เป็นผู้ช่วยช่างทำผมประจำอยู่ที่ร้านเสริมสวยชลาชล ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น” คุณเพ็ญทิพย์ เทพรส (แอน) แผนกเสริมสวยสตรี 1 “เดิมเป็นผู้ช่วยพยาบาล ปัจจุบันเปิดร้านเสริมสวยเป็นของตัวเอง (แอนบิวตี้) มีเวลาดูแลครอบครัว ทำให้ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น” ภัคจิรา ทีฆรัตนมงคล (กิ๋ว) แผนกอาหารและเบเกอรี่ “เดิมเป็นแม่บ้านดูแลลูก ไม่มีรายได้ ปัจจุบันทำธุรกิจออนไลน์รับออร์เดอร์ทำเบเกอรี่ ประทับใจศูนย์ฯ เพราะไม่ได้ให้แค่อาชีพ แต่เป็นการให้ความรู้ทักษะต่างๆ ติดตัวเราไปตลอดชีวิต” และกานต์รวี สฤษดิ์เกรียง (เล็ก) แผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ “เดิมประกอบอาชีพรับซื้อของเก่า รายได้ไม่แน่นอน ประทับใจศูนย์ฯ อบรมให้ฟรี อาจารย์ที่สอนก็มีความมุ่งมั่นทุ่มเทในการสอน เพื่อให้ศิษย์ที่มาเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพได้จริงๆ จนตอนนี้ชีวิตดีขึ้นมาก มีรายได้เพิ่มจากเดิม”

          “บุคคคลตัวอย่างทั้ง 7 ท่านนี้ แสดงให้เห็นถึงการได้รับโอกาสและการเข้าถึงบริการสวัสดิการทางสังคมที่รัฐจัดให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง และโครงการมหกรรม “เก่ง ดี มีอาชีพ” สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานขับเคลื่อนตามนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน ให้ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และผู้ที่แสดงออกแตกต่างจากเพศที่กำเนิดให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี ผมหวังว่าการจัดโครงการในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่ดีให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมของศูนย์ฯ ทุกท่าน ให้เกิดความมุ่งมั่น บากบั่นขยันหมั่นเพียร เรียนรู้ และฝึกฝนเพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้แก่ตนเองและครอบครัว สามารถพัฒนาตนเองไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยนำทักษะความรู้ที่ได้รับ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในระหว่างเข้ารับการฝึกอบรมจากศูนย์ฯ ไปปรับประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้สามารถดูแลตนเอง และครอบครัวได้อย่างเข้มแข็ง และเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ดีต่อไป” นายเลิศปัญญา กล่าว