วันศุกร์, พฤษภาคม 17, 2024
Central Regionnewsroyal projectRoyal Story

สืบสานการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยตะเพินเพื่อผาสุกของราษฎร

ชาวบ้านหนองแดง หมู่5 ตำบลหนองกุ่ม อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับน้ำจากฝายทดน้ำบ้านหนองแดง จนทำการเกษตรได้ผลผลิตดีขึ้น ดังเช่น นายเนตร หมอนทอง เดิมมีอาชีพรับจ้างทั่วไป และทำนา 1 ครั้งต่อปี เดิมต้องสูบน้ำมาจากลำน้ำต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงแต่ได้ผลผลิตเพียง50ถังต่อไร่ เมื่อได้รับน้ำจากระบบส่งน้ำฝ่ายทดน้ำบ้านหนองแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีโรงสูบน้ำส่งน้ำไปยังแปลงนา จึงสามารถทำนาได้ปีละ2ครั้งในพื้นที่ 2ไร่ได้ผลผลิตข้าว 80-100ถังต่อไร่ และส่วนพื้นที่อีก8ไร่ปลูกพืชผักสวนครัวตามคันนา ปลูกไม้ผล เช่น กล้วย อ้อย มะพร้าว ดีปลี มีรายได้เพิ่มมากขึ้น จากการขายดีปลีถึงเดือนละ 7,000 บาท และยังเลี้ยงปลา 2ไร่ ทำให้มีกินและมีรายได้มากขึ้น โดยเฉพาะรายได้จากการขายพืชผักสวนครัวทุกวัน ทำให้ไม่ต้องไปรับจ้างใช้แรงงานในพื้นที่อื่น

เช่นเดียวกับนางสาวปิ่นชฎา โชคพิรุณทอง  จากเดิมทำนาได้ผลผลิตเพียง 20-30ถังต่อไร่ เมื่อได้รับน้ำจากฝายแห่งนี้ ทำให้ผลผลิตสูงถึง80ถังต่อไร่ และยิ่งได้รับน้ำจากฝนเพิ่มบางปีได้ผลผลิตสูงถึง 100ถัง

การลงพื้นที่ของพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าโครงการฝายทดน้ำบ้านหนองแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยตะเพินอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรสำหรับทำการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคของราษฎร ตามที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริไว้เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2533

     โดยฝายทดน้ำบ้านหนองแดงฯ มีลักษณะเป็นฝายทดน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความยาวของลำฝาย 67.50 เมตร สูง 4 เมตร มีอาคารสถานีสูบน้ำ จำนวน 2 โรง (โรงสูบน้ำใหญ่ซ้าย และโรงสูบน้ำใหญ่ขวา) ซึ่งปัจจุบันสามารถส่งน้ำให้กับราษฎรสำหรับอุปโภค บริโภค และเพื่อการเพาะปลูกให้กับราษฎร หมู่ที่ 2 บ้านหนองกระทุ่ม หมู่ที่ 5 บ้านหนองแดง หมู่ที่ 11 บ้านวังด้ง และหมู่ที่ 14 บ้านสลอบ พื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่  นอกจากนี้ ยังมีการบริหารจัดการน้ำโดยราษฎรอย่างเป็นรูปธรรม  ทำให้สามารถพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ นายเศกสิทธิ์ โพธิ์ชัยผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2533 ให้กรมชลประทานและสำนักงาน กปร. ดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้ง ที่สร้างความเดือดร้อนในการทำเกษตรกรรมของราษฏรแต่ละจังหวัด โดยจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรีมีพระราชดำริในการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำห้วยตะเพิน ซึ่งโครงการฝายทดน้ำบ้านหนองแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำห้วยตะเพิน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 10ทรงสานต่อโครงการนี้

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นเขื่อนดิน กว้าง 10 เมตร สูง 21.5 เมตร ยาว 790 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ 23.1 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยเหลือเกษตรกรเป็นพื้นที่ทั้งหมด 7500 ไร่ ในปัจจุบันอ่างเก็บน้ำห้วยกระพร้อย ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย เหลือระบบส่งน้ำที่กำลังดำเนินการ

“ดำเนินการเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2560 มีความจุได้เต็มตามที่คาดการณ์ไว้ และสามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่เกษตรกรรมได้ แต่ในปีนี้ความจุของอ่างอยู่ที่ 15% คือประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการส่งน้ำให้กับพื้นที่ที่มีเกษตรกรอยู่เป็นระยะ แต่สถิติน้ำฝนในจังหวัดกาญจนบุรี จะเริ่มมีฝนตกในเดือนตุลาคม คาดว่าความจุน้ำจะเพิ่มขึ้นไปที่ 80% ของอ่าง น้ำที่เก็บไว้ก็จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ รวมถึงในฤดูแล้งด้วย”

พระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวพระราชดำริในการแก้ปัญหาแหล่งน้ำให้กับพื้นที่เกษตรกรรม ได้ถูกสานต่อมายังรัชสมัยปัจจุบัน เพื่อสร้างผาสุกให้เกิดขึ้นกับราษฎร

น้ำเป็นหัวใจในการทำการเกษตร ที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตของราษฎรให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง.

ขอบคุณข้อมูลจากกองประชาสัมพันธ์

สำนักงาน กปร.