InnovationnewsSocial News

เอกชนผนึกกำลังนำโครงการ PAPRช่วยชาติ เพิ่มศักยภาพการผลิตเครื่องมือแพทย์ สู้วิกฤตโควิด-19

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างขอบข่ายทั่วโลก ทุกประเทศประสบปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่สัมผัสกับผู้ป่วยเสี่ยงเพราะขาดอุปกรณ์ป้องกันที่ดีและมีคุณภาพ ทั่วโลกจึงให้ความสำคัญในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายในประเทศเพื่อลดภาวะการณ์ขาดแคลนด้วยตนเอง

สำหรับประเทศไทยต้องนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ คิดเป็นมูลค่านับแสนล้านบาทต่อปี และมักประสบกับการขาดแคลนเนื่องจากไม่สามารถผลิตได้เองในปริมาณที่เพียงพอ จึงต้องนำเข้าและเรียนรู้เทคโนโลยีทั้งการผลิตตลอดถึงการใช้งานจากต่างชาติเป็นหลัก


ล่าสุดข้อมูล จากการพูดคุย ในรายการ IBERD [LIVE] EP.13 Business and Economic Conference ในหัวข้อ “ Thai SUBCON กับกลยุทธ์ พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม” ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาการเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) และ สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcon) ร่วมกันจัดขึ้น โดย คุณเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และ คุณรุ่งรัตน์ ศิริรัตนาพานิชย์ กรรมการบริหารสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แม่น้ำเมคคานิกา จำกัด ดำเนินรายการโดย อาจารย์วริศรา แหลมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเครือข่าย สายงานสื่อสารแบรนด์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และอาจารย์ประจำหลักสูตรการตลาดยุคดิจิทัล วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี….พบว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะผลิตเครื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ดีและมีคุณภาพได้


จากที่ประเทศไทยขาดแคลนหน้ากาก N95 คณะแพทย์ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนผลิต PAPRs ต่อมาได้จัดตั้ง ThaiMic ขึ้น และร่วมมือกับสมาคม Thai Subcom ซึ่งเชี่ยวชาญการผลิต เพื่อทดแทนการนำเข้าหน้ากาก N95 และผลิตชุด PAPRs ที่ผ่านการทดสอบความปลอดภัยแล้ว มีการจัดเก็บข้อมูลทางวิชาการโดยสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย ในโครงการ ชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศรีษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง PAPRs ภายใต้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และได้ส่งมอบผลงานวิจัย เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา


ความสำเร็จดังกล่าวจึงสามารถสนับสนุนสิ่งประดิษฐ์ให้ ไทยทำ ไทยใช้ ภายในประเทศเป็นการแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขไทย ที่สำคัญจะก่อเกิดผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดถึงห้องปฏิบัติการทดสอบภายในประเทศเพิ่มขึ้น ที่สามารถเลิกพึ่งพิงหรืออ้างอิงมาตรฐานจากต่างประเทศได้ ทั้งเป็นการส่งเสริมสนับสนุนและสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ของไทย ให้เป็นที่ยอมรับ ทั้งในและต่างประเทศ และสามารถขยายการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเช่น กัมพูชา สปป.ลาว เมียนม่า และเวียดนาม ( CLMV ) ได้ต่อไปในอนาคต


ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาการเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD )
www.iberdthailand.com และ Facebook : IBERDTHAILAND ( https://fb.watch/5DbSSeFYI_/ )