Central RegionnewsRoyal Story

สหกรณ์พัฒนาชีวิตชาวหุบกะพง

ผลผลิตที่งอกงามบนผืนดินปนทราย ในพื้นที่ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นผลสำเร็จจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์เนื้อที่ประมาณ 12,079ไร่ 1งาน 82ตารางวาให้กับพสกนิกรผู้ยากไร้ได้ทำกิน

การทำเกษตรแบบผสมผสานเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชผักนานาชนิด เช่น ฟักเขียว ฟักทอง ผักกะเฉด ได้ถูกนำไปบริโภค เหลือจึงแจกจ่ายและจำหน่าย รวมถึงการปลูกข้าวพันธุ์ดีที่ได้รับคำแนะนำจากศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง เป็นผลสำเร็จจากความบากบั่นในการทำกินของ นายสมภพ เปรมสุข พสกนิกรที่ได้สืบสานการทำเกษตรต่อจากบิดาของภรรยา ในผืนแผ่นดินพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่9  “ถ้าไม่ได้พระองค์ท่านเราก็ไม่ได้ยืนอยู่ตรงนี้และคงไม่มีวันนี้ นี่คือพระองค์ท่านพระราชทานให้เรา ที่จะปฏิบัติตามที่พระองค์ท่านตรัสไว้ว่าอะไรที่ทำได้ก็ทำ ความสามัคคีในหมู่คณะเป็นเหตุให้ดีที่สุดนะครับ นี่คือความสามัคคีอยู่ในระบบสหกรณ์เนี่ยถ้าเราไม่สามัคคีก็ไม่มีประโยชน์ เราต้องช่วยเหลือกันอยู่ในลักษณะเศรษฐกิจพอเพียง”นายสมภพกล่าว

ทางด้านกลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนหมู่10บ้านหุบกะพงพัฒนา นางนุจรี ศรีธรรมการ เลขานุการกลุ่มฯเปิดเผยว่าเป็นเกษตรกรรุ่นหลานที่ได้รับพระราชทานที่ดินทำกินจากในหลวงรัชกาลที่9 เดิมเลี้ยงโคแบบไล่ทุ่ง ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นเลี้ยงโคขุนในคอก โดยรับซื้อโคที่มีอายุประมาณ2-3ปีมาขุนให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็นเวลา4เดือน ขายให้กับตลาดเวียดนาม จีนและ กทม.ที่มารับซื้อถึงที่ ได้รับกำไรจากการขุนโคตัวละ3,000-4,000บาท ในส่วนของกลุ่มมีสมาชิก25คนรวมตัวกันซื้ออาหารและหาตลาด “สหกรณ์จะดูแลเป็นพี่เลี้ยงหาวัตถุดิบให้เรา สหกรณ์ก็จะพยายามไปหาของราคาถูกให้”

“การเข้ารวมตัวของกลุ่มเริ่มต้นด้วยการระดมทุนให้เป็นหุ้น เมื่อถึงปีใหม่ก็จะปันผลให้สมาชิกตามจำนวนหุ้น โดยสมาชิกจะขุนโคเป็นอาชีพเสริม ผลประกอบการของกลุ่มจึงเฉลี่ยคนละ30,000-40,000บาทต่อปี” นางนุจรีกล่าว

ทั้งนี้ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการฯ และกลุ่มเกษตรกร ในโครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี โดยอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่ากรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับเกษตรกรและสหกรณ์ที่อยู่ในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “สนับสนุนการประกอบอาชีพ โดยนำการตลาดมานำการผลิตเพื่อให้เกษตรกรของเราสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาด ขยายผลไปถึงการแปรรูป ซึ่งเป็นขั้นตอนของเศรษฐกิจพอเพียง เหลือกินเหลือใช้แล้วนำไปขายแปรรูปแล้วก็จำหน่าย สิ่งที่สำคัญคือสนับสนุนให้เกษตรกรเหล่านี้รวมกันเป็นกลุ่มเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ลดต้นทุนเรื่องของการผลิตลงมา แล้วก็เพิ่มช่องทางการตลาดของเกษตรกรเหล่านี้”

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์อันมีชื่อเสียงโด่งดังของกลุ่มสตรีศิลปาชีพ(พิเศษ)ป่านศรนารายณ์ ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการนำเส้นฝ้ายจากกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า มาสอดใส่ในเส้นป่านศรนารายณ์พืชที่ขึ้นได้ดีในสภาพดินทรายเช่นหุบกะพงแห่งนี้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีความนุ่มยืดหยุ่นน่าใช้มากขึ้น

ระยะเวลา57ปี ที่โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพงก่อตั้งขึ้น ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินตามพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด โดยทรงสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนา เกษตรกรและสมาชิกผู้อยู่อาศัย ในโครงการฯ ท้ังปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยการผลิตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พสกนิกรในโครงการฯ มีความเป็นอยู่ที่ดี มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง เพื่อให้เป็น“หมู่บ้านตัวอย่าง” ในการพัฒนาอย่างครบวงจร ภายใต้ชื่อ “หมู่บ้านสหกรณ์โครงการหุบกะพง”  โดยนำระบบสหกรณ์มาใช้ในการส่งเสริมความรู้ และทักษะ เพื่อพัฒนาประชาชนให้เข้าใจในการช่วยตนเอง และเกิดการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามอุดมการณ์ หลักการ วิธีการสหกรณ์ พร้อมขับเคลื่อนโครงการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์ นิคมสหกรณ์ สหกรณ์นิคม และกลุ่มเกษตรกรทั่วไป

ทั้งนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดทำศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพงขึ้น เพื่อเป็นแหล่งสาธิตในการดำเนินงานตามขบวนการสหกรณ์  6 ด้าน คือการจัดพัฒนาที่ดินและชลประทาน, การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกรและสมาชิกโครงการฯ, การประชาสัมพันธ์โครงการฯ, การสาธิต ทดลองและโครงการพิเศษเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาแก่ผู้สนใจและบุคคลทั่วไป รวมถึงด้านกิจกรรมเพื่อสังคม ภายใต้พระราชดำริ”ขาดทุนคือกำไร”