newsNorth regionroyal projectRoyal Story

ป่าสักนวมินทรราชินี ฟื้นได้ด้วยพระบารมี

ด้วยพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้น เช่น ภาคเหนือ มีทรัพยากรป่าไม้ที่คงความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ  โดยเฉพาะ “ป่าสักนวมินทรราชินี” ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอปางมะผ้า   อำเภอปาย และ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน   กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชทำการสำรวจเมื่อปี   2552  พบต้นสักธรรมชาติขึ้นกระจายอยู่เป็นบริเวณกว้าง ทั่วบนเนื้อที่กว่า   30,000 ไร่  โดยต้นสักเหล่านี้มีขนาดใหญ่ลำต้นตรง  บางต้นมีอายุตั้งแต่ 50 ปีถึง 300 ปี

ในปี 2553 ป่าสักในพื้นที่แห่งนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ภายใต้ชื่อ “โครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สัก” ต่อมาพระราชทานชื่อป่าแห่งนี้ว่า “ป่าสักนวมินทรราชินี” และมีพระราชเสาวนีย์ให้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อนุรักษ์และฟื้นฟูไว้ เพื่อเป็นแหล่งพันธุกรรมไม้สัก และพระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนาอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน

             ทั้งนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กําหนดพื้นที่ป่าสักธรรมชาติแห่งนี้ ให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ และจัดเจ้าหน้าที่ทำการลาดตระเวนดูแลรักษาบริเวณโดยรอบอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเพาะขยายพันธุ์กล้าไม้แจกให้ประชาชนนำไปปลูกเสริมอย่างต่อเนื่อง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการยังดำเนินงานส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้กับราษฎร โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สนับสนุนงบประมาณต่อยอด ในการส่งเสริมอาชีพอย่างต่อเนื่อง

ในการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินโครงการของ  นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ  และรองเลขาธิการ กปร.  เมื่อวันที่ 22  ธันวาคม  2564 ได้มีการเชิญถุงพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ จัดสิ่งของจำเป็นเพื่อมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ   รวมทั้งเสื้อกันหนาว ไปมอบแก่เด็กในพื้นที่โครงการ  เพื่อบรรเทาความหนาวเย็น ได้แก่ โครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร บริเวณป่าลุ่มน้ำของ-ลุ่มน้ำปาย และหน่วยปฏิบัติการพื้นที่ บ้านมะโนรา หน่วยปฏิบัติการพื้นที่ บ้านนาอ่อน และหน่วยปฏิบัติการพื้นที่ บ้านห้วยซลอบ ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างหาที่สุดมิได้

              สำหรับความคืบหน้าการส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎร โดยส่งเสริมให้ทำการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง  ปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกข้าวไร่ บริโภคในครัวเรือน  และปลูกพืชเศรษฐกิจ  ได้แก่ กระเทียม ข้าวโพดอาหารสัตว์ อาโวคาโด  อีกทั้งส่งเสริมการทอผ้าพื้นเมืองกะเหรี่ยง ปะกาเกอญอ  (กลุ่มบ้านมะโนรา) พบว่ามีการพัฒนารูปแบบ การให้สีสวยงาม ทั้งเสื้อชนเผ่า กางเกง ย่าม ผ้าพันคอ จำหน่ายให้นักท่องเที่ยว  แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของCOVID 19  เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช   ได้นำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายและหาตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ทำให้ราษฎรมีรายได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้สนองพระราชดำริ  เข้าไปทำการวิจัยทดลองแปรรูปชาดอกกุหลาบ   ดอกดาวเรือง เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรมีรายได้ในระยะต่อไป

              จากแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระราชทานไว้  ได้สร้างคุณประโยชน์แก่ปวงพสกนิกรเหลือคณานัป  ไม่เพียงแต่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของราษฎร  ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติของ  “ป่าสักนวมินทรราชินี”ปรากฏชัด จากสายน้ำในลำน้ำต่างในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีน้ำไหลอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันป่าสักนวมินทรราชินียังคงเป็นผืนป่าที่มีความสมบูรณ์ที่สุดของชายแดนไทย  และชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบเขตป่าอนุรักษ์ สามารถดำรงชีพอย่างถูกวิธีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีจิตสํานึกการมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่าและอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน  ตามพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

กองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร.