newsNorth regionroyal projectRoyal Story

บทความพิเศษ เรื่อง พัฒนาชีวิตราษฎรบ้านขุนวิน

นาขั้นบันไดแปลงใหญ่ที่อยู่ติดหมู่บ้าน เป็นแหล่งอาหารของชาวไทยภูเขาเผ่าปะกาเกอะญอ บ้านขุนวิน ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

จากอดีตที่ผืนป่าถูกแผ้วถางเพื่อทำกิน เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จเยี่ยมราษฎรที่บ้านขุนวิน ตำบลแม่วิน อำภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19มกราคม2543 มีพระราชดำริให้ช่วยเหลือราษฎรในด้านต่าง ๆ ผ่านการดำเนินงานของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบ้านขุนวินอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาทิ  การพัฒนาแหล่งน้ำให้มีน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรได้อย่างเพียงพอ บำรุงรักษาป่าไม้และไม้ขนาดใหญ่ในพื้นที่ เช่น ตะเคียนทอง จำปีป่า และมะแขว่น เพื่อให้ราษฎรได้อาศัยผลผลิตจากป่าในการบริโภค รวมทั้งส่งเสริมการปลูกมะแขว่นให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งปีที่ผ่านมาสามารถผลิตมะแขว่นได้6,370 กิโลกรัม การปลูกหวายเพื่อใช้เป็นไม้ใช้สอย

การพัฒนาการเกษตรได้ส่งเสริมให้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อเพิ่มผลผลิต ส่งเสริมให้ราษฎรทดลองหาพันธุ์ปลาที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และภูมิประเทศเพื่อเพิ่มแหล่งอาหารโปรตีน อีกทั้งอบรมราษฎรให้ราษฎรมีความรู้พื้นฐานทางด้านสาธารณสุข มีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เหมาะสม

ระยะเวลากว่า 20ปีแห่งการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ ราษฎรบ้านขุนวินได้เดินตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูล มีการปลูกพืชผักอินทรีย์ส่งโครงการหลวง ปลูกกาแฟใต้ร่มไม้พร้อมกับได้รับความรู้ด้านการแปรรูปกาแฟจากหน่วยงานเอกชน เช่น Mala Cafei ทำการคั่วกาแฟด้วยกระบวยดินเผา

นอกจากนี้ราษฎรยังได้รับการส่งเสริมให้ทอผ้า พร้อมกับความรู้ในการผลิตผ้าลายใบไม้จากสีธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ อบต.แม่วิน เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น

 

ในโอกาสที่นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นางสุพร ตรีนรินทร์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ กปร. คณะที่ปรึกษาฯ และคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ พบว่า ปัจจุบันราษฎรบ้านขุนวินมีจำนวน 152คน 44ครัวเรือน มีผู้ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ68คน ศึกษาชั้นอนุบาลและประถมรวม 39คน มัธยมศึกษาตอนต้นและปลายรวม 39 คน และประกาศนียบัตรขั้นสูง9คน

โดยราษฎรมีส่วนร่วมและมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้มีความยั่งยืน ชุมชนมีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้  มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว ดำรงชีวิตได้อย่างผาสุกควบคู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล

บทโดย สุวินา เอี่ยมสุทธา