EditorialnewsRoyal NewsRoyal Story

บทความเฉลิมพระเกียรติ เรื่อง กษัตริย์…นักเกษตร “พระอัจฉริยะด้านดิน”

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทย พระราชกรณียกิจที่ปรากฎยังคงเป็นภาพที่ประทับในความทรงจำ และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ ด้วยพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ โดยเน้นการช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาให้แก่ราษฎรทั่วทุกถิ่นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทรงมุ่งเน้นและทุ่มเทพระวรกายแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งเป็นหลักและเป็นพื้นฐานการพัฒนา คือการพัฒนาทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ โดยยึดการแก้ที่ปัจจัยพื้นฐาน เริ่มต้นจากการพัฒนาดินปัจจัยหลักในการเพาะปลูกพืช เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืนยาวนาน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาและเข้าใจถึงปัญหาการประกอบอาชีพของเกษตรกร ทรงพบว่าดินในแต่ละภูมิภาคมีสภาพแตกต่างกัน เช่น ดินทราย ดินดานดินแข็งและดินลูกรัง  ดินเปรี้ยวดินพรุ  ดินเค็ม  ดินเป็นหินกรวดและแห้งแล้ง ดินเสื่อมโทรม ดินที่ลาดชันมาก และดินพังทลาย พระองค์ทรงศึกษาและหาแนวทางแก้ไข โดยให้ข้าราชการในพื้นที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาดินตามพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้หลายครา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2527 ความว่า  “ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัดโดยการระบายน้ำให้แห้งและศึกษาวิธีการแกล้งดินเปรี้ยวเพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาเรื่องนี้ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองภายในกำหนด 2 ปีและพืชที่ใช้ทดลองควรเป็นข้าว…” ซึ่งเป็นที่มาของการศึกษา ทดลอง วิจัยโครงการแกล้งดิน ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ดำเนินการจนประสบผลสำเร็จ

จังหวัดนราธิวาสมีสภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมขังในฤดูฝนและดินแห้งแล้งในช่วงหน้าแล้ง ทำให้ดินแปลงสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัดไม่สามารถปลูกพืชใดๆได้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯจึงนำผลสำเร็จจากโครงการแกล้งดิน ขยายผลการพัฒนาไปสู่พื้นที่ดินเปรี้ยวของจังหวัดนราธิวาสโดยเฉพาะพื้นที่บ้านโคกอิฐ-โคกในตำบลพร่อน อำเภอตากใบ  โดยนำเทคโนโลยีการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัดไปถ่ายทอดให้แก่ราษฎรในพื้นที่จนสามารถปลูกข้าวได้ และขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆของจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดปัตตานี  โดยราษฎรสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นดินได้ทั้งการปลูกข้าวปลูกพืชผัก พืชไร่ ไม้ผลและพืชเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นคือมีกินมีใช้มีรายได้และมีอาชีพ ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงคิดค้นนวัตกรรมหลากหลายเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอาชีพของปวงชนชาวไทยให้กินดีอยู่ดีชีวีมีสุข

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่ช่วยให้ราษฎรลืมตาอ้าปากมาจนถึงทุกวันนี้ สามารถพลิกฟื้นผืนดินให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนและยาวนาน   จนในปี 2550 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ สำนักงาน กปร. ได้ขอยื่นจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ชื่อ “โครงการแกล้งดิน” ไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา  และได้ทูลเกล้าถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในพระปรมาภิไธย  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่อง “กระบวนการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก” (โครงการแกล้งดิน) ในสาขาวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงดิน เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม  2550  ต่อมาวันที่ 16 เมษายน 2555 ศาสตราจารย์เกียรติคุณสตีเฟน นอร์ตคลิฟฟ์ กรรมการบริหารและอดีตเลขาธิการสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil  Sciences-IUSS)   พร้อมคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล  “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (The Humanitarian Soil Scientist) และในโอกาสนี้ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันดินโลก”  เนื่องจากพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและนานาชาติ

การแก้ไขปัญหาเรื่องดินเปรี้ยวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาดินให้กับราษฎร พระองค์ยังทรงมีพระปรีชาญานในทุกๆด้าน โดยพระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกหลายโครงการหลายพื้นที่ สามารถพัฒนาจนประสบผลสำเร็จ สร้างประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนอย่างมหาศาล

…พระองค์ยังคงสถิตย์ในดวงใจเหล่าพสกนิกรทั่วหล้าตลอดไป…

 

โดย ขวัญจิรา สุวรรณ