North regionRoyal News

องคมนตรี เชิญสิ่งของพระราชทาน มอบแก่ราษฏรและผู้ปฏิบัติงาน จ.พะเยา เพื่อบรรเทาความหนาว

<span;>วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 เวลาประมาณ 10.10 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายศุภรัชต์ อินทราวุธ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ กปร. คณะที่ปรึกษาฯ และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านหนองห้า ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เพื่อเชิญสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงาน

ประกอบด้วย เสื้อกันหนาวมอบให้แก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 65 ตัว ถุงพระราชทานมอบให้แก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการฯ รวม 90 ถุง สร้างความปลื้มปีติให้แก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรทั่วทุกพื้นที่เสมอมา จากนั้น องคมนตรี รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ และเยี่ยมชมผลผลิตและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกิดจากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ

<span;>โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ฯ บ้านหนองห้า เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพื้นที่แนวชายแดนประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บริเวณดอยยอดห้วยน้ำลาว บ้านเย้าหนองห้า ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ทรงพบว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวได้ถูกบุกรุกแผ้วถางป่าเป็นพื้นที่กว้าง บางส่วนของพื้นที่ปลูกพืชเสพติดและเกิดปัญหาด้านความมั่นคงตามแนวชายแดน จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ขึ้น โดยนำชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ ที่เคยขอพระราชทานความช่วยเหลือเรื่องที่ทำกิน เข้ามาอาศัยและช่วยฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณบ้านหนองห้า มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ให้การสนับสนุนฝึกอบรมศิลปาชีพเพื่อสร้างอาชีพ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้เรื่องการเกษตร การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ราษฎรที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างผสมกลมกลืน โดยคนเป็นผู้พิทักษ์ป่า ป่าให้ความร่มเย็นและเป็นแหล่งผลิตอาหารของคน

<span;>ปัจจุบัน ป่าที่เคยเสื่อมโทรมได้รับการฟื้นฟูกลับคืนความสมบูรณ์ จำนวน 5,796 ไร่ เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ราษฎรมีรายได้จากการทำเกษตร ปลูกและขายกาแฟกะลา ทำเครื่องเงิน ปักผ้าทอ ตลอดจนรับจ้างงานหน่วยงานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้รับการส่งเสริมด้านการศึกษาสามารถพัฒนาทักษะ ฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาไทยได้ ชุมชนมีการพัฒนาที่ดีขึ้น


<span;>จากนั้น องคมนตรีและคณะ เดินทางไปยังฐานปฏิบัติการตำรวจตระเวนชายแดนบ้านฮวก กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 326 ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เพื่อเชิญถุงพระราชทาน ไปมอบให้แก่ผู้ปฏิบัติงานหน่วยความมั่นคง 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย กำลังพลกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 326 ตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา จำนวน 40 ถุง กำลังพลฐานปฏิบัติการตำรวจตระเวนชายแดนบ้านฮวก กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 326 ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา จำนวน 24 ถุง และกำลังพลฐานปฏิบัติการบ้านหัวนา กองร้อยทหารพรานที่ 3106 ตำบลทุ่งกล้วย อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา จำนวน 27 ถุง โอกาสนี้องคมนตรีให้โอวาทแก่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานรักษาความสงบเรียบร้อย

 

<span;>ช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะ เดินทางไปยังโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เพื่อเชิญถุงพระราชทานมอบให้แก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการฯ รวม 55 ถุง

พร้อมกันนี้ได้รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของโครงการฯ พร้อมทั้งเยี่ยมชมผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของราษฎรในพื้นที่โครงการฯ


<span;>เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2543 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านร่มฟ้าทอง อำเภอเวียงแก่นจังหวัดเชียงราย ทรงทราบถึงปัญหาต่างๆ  เช่น การประกอบอาชีพการเกษตร การฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำลำธาร การกำหนดขอบเขตของพื้นที่ทำกินในพื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ดอยยาวดอยผาหม่น ดอยผาจิ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ดอยยาวฯ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีกองทัพภาคที่ 3 ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานโครงการดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป


<span;>ปัจจุบันโครงการฯ ได้ดำเนินการปลูกป่าฟื้นฟูระบบนิเวศไปแล้ว จำนวน 3,100 ไร่ และสร้างฝายเพื่อดักตะกอน ชะลอความเร็วของน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่า จำนวน 50 แห่ง ในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตมอบปัจจัยการผลิตการเกษตร เช่น แจกจ่ายเชื้อเห็ดนางฟ้า เมล็ดพันธุ์ผัก และไก่พันธุ์ไข่ ให้แก่โรงเรียนเพื่อสนับสนุนอาหารกลางวันเด็กนักเรียนภายในโรงเรียน สร้างรายได้บางส่วนจากผลผลิตที่ได้ และเป็นการขยายผลผลิตสู่ชุมชนโดยรอบโรงเรียนอีกด้วย

<span;>ขอบคุณกองประชาสัมพันธ์
<span;>สำนักงาน กปร.