Generalnews

สุราษฎร์ธานี เตรียมรับมืออุทกภัย

ในโอกาสที่พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วย นายปวัตร์ นวะมะรัตน รักษาราชการแทนเลขาธิการ กปร.  และคณะอนุกรรมการฯ ประชุมติดตามผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 27ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รายงานการติดตามสถานการณ์อุทกภัย และเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือหากเกิดภัยพิบัติ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากในพื้นที่ภาคใต้คาดว่าจะมีฝนตกมากขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมนี้ โดยพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีทั้งหมด 407 หมู่บ้าน  96  ตำบล  19  อำเภอ  พื้นที่ ที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ 1. บ้านปากฮาย ตำบลคลองสระ อำเภอกาญจนดิษฐ์ เสี่ยงภัย น้ำป่าไหลหลาก 2. บ้านคลองไม้แดง ตำบลปากหมาก อำเภอไชยา เสี่ยงภัย ดินถล่ม และ 3. บ้านบางหยด หมู่ที่ 8 ตำบลอิปัน อำเภอพระแสง เสี่ยงภัย น้ำท่วม น้ำล้นตลิ่ง

ทั้งนี้ ได้จัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้น โดยสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ป้องกันภัยพิบัติประจำชุมชนพื้นที่เสี่ยงภัยอุทกภัยและดินโคลนถล่ม 92ชุมชน ประกอบด้วย เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ 54ลำ เจ็ตสกี 1ลำ รถตู้พยาบาล 3ลำ เรือตรวจการณ์ 27ฟุต 2ลำ  เรือพยาบาล 46ฟุต 2ลำ  สถานี Life guard จำนวน 6 ศูนย์(อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ) พร้อมชุดค้นหาใต้น้ำและเรือยางพร้อมเครื่องและเรือยางพร้อมเครื่อง 40 แรงม้า จำนวน 6 ลำ เครื่องปั่นไฟขนาด 1 KVA10 เครื่อง

ทั้งนี้ ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง  ติดตามสภาพอากาศ ตรวจสอบข้อมูลปริมาณน้ำฝน น้ำท่าของแม่น้ำ คลอง ต่างๆ  ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เสี่ยงภัย จำนวน 91 หมู่บ้าน รวม 94 เครื่อง ตรวจสอบระบบอุปกรณ์เตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย คือหอเตือนภัย 7 จุดและหอกระจายข่าว 20 จุด

ขณะที่โครงการชลประทานสุราษฎร์ธานี สำนักงานชลประทานที่15 ได้รายงานว่าพื้นที่ภาคใต้ ฤดูฝน เริ่มประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยและยังมีร่องความกดอากาศต่ำ พาดผ่าน ภาคใต้เป็นระยะ ๆ

ต่อจากนั้นจนถึง เดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นระยะแรกที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีจะยังคงมีฝนชุกต่อเนื่องจนถึงเดือนธันวาคม ฝนจึงเริ่มลดลง โดยในปีนี้ปริมาณฝนอยู่ที่ระดับ 1488 มิลลิเมตร สูงกว่าค่าเฉลี่ย 20.1% โดยขณะนี้ลุ่มน้ำตาปีสถานการณ์ยังปกติ คลองสาขายังอยู่ในสภาวะปกติ อ่างเก็บน้ำหลักยังสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้

สำหรับอุทกภัยเมื่อวันที่ 19-21 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีฝนตกหนักต่อเนื่องในจังหวัดกระบี่บริเวณแนวเขารอยต่อจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ส่งผลให้ระดับน้ำในคลองอิปัน ต้นน้ำอยู่ในเขตจังหวัดกระบี่ และไหลลงแม่น้ำตาปีในเขตอำเภอพระแสง ไหลล้นตลิ่ง ท่วมพื้นที่ ลุ่มต่ำริมคลอง

แต่สถานการณ์ปัจจุบัน บริเวณต้นน้ำยังคงมีฝนตกอยู่ ในพื้นที่อำเภอพระแสง ไม่มีฝนตกระดับน้ำในคลองอิปันลดลงต่ำกว่าตลิ่งต่อเนื่อง สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำตาปีได้ดี ยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำริมคลองอิปัน ในเขตอำเภอพระแสง รอการระบาย คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วัน