EditorialGeneralnews

บทความเรื่อง สืบสานเครือข่ายคนรักษ์แฝก

การปลูกแฝกบนพื้นที่ลาดชัน โดยปลูกขวางความชันเพื่อให้รากของแฝกที่มีความยาวหยั่งลึกลงไปในดินหลายเมตร ยึดก้อนดินไว้ให้แน่นหนา ป้องกันปัญหาดินถล่มเมื่อเกิดภาวะน้ำไหลบ่าในช่วงฤดูฝน และยังสะสมธาตุอาหารไว้ในตุ้มดิน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินภูเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ

ตัวอย่างความสำเร็จของการปลูกแฝกเพื่อการอนุรักษ์ คือที่บริเวณตำบลแจ่มหลวง อำเภอกัลยาณิวัฒนา  จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่เกษตรของนายพนม ชมพล เกษตรกรต้นแบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  ได้รับรางวัลชนะเลิศ โล่พระราชทาน ครั้งที่ 11ประจำปี 2561-2562 ต้นแบบการปลูกแฝกในพื้นที่ภูเขา ที่มีการปลูกพืชอายุสั้น

 

พนมเล่าว่าจากปัญหาสภาพพื้นที่เกษตรของตนเองเป็นที่ลาดชัน หน้าดินไม่ค่อยมี ใส่ปุ๋ยก็ไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง  ทำให้ดินค่อยๆเสื่อมคุณภาพ จึงนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9เรื่องการใช้หญ้าแฝกมาปลูกตามแนวลาดชัน เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ดิน และป้องกันไม่ให้หน้าดินไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง รวมทั้งเก็บกักปุ๋ยที่ให้แก่ต้นพืชไว้เจริญเติบโต

 

พนม เป็นต้นแบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ และเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ได้รับรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้แฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2551 ได้เข้าร่วมงานมหกรรมเครือข่ายคนรักษ์แฝก ครั้งที่ 5 ประจำปี 2563 – 2565 gภายใต้แนวคิด “เครือข่ายคนรักษ์แฝก รักษ์น้ำ ป่า ดิน ด้วยแฝกองค์ภูมินทร์ ฟื้นถิ่น ยั่งยืน” เป็นการรวมตัวของเครือข่ายเดินหน้าสืบสานแนวพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มุ่งหวังที่จะส่งเสริมการขยายผลการปลูกแฝกจากภาครัฐสู่ภาคประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากแฝกและการเผยแพร่ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่ชุมชน

ในงานครั้งนี้ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี และประธานกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้แฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน เมื่อวันที่ 30พฤศจิกายน 2565 ณ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีนางสุพร ตรีนรินทร์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเรื่องมาจากพระราชดำริ เป็นผู้กล่าวรายงาน และนางศศิพร ปาณิกบุตร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมพิเศษและวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เป็นผู้กล่าวเปิดงานเสวนาวิชาการและร่วมเสวนาในหัวข้อ “ถอดบทเรียนการใช้ประโยชน์แฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้ นางสุพร ตรีนรินทร์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเรื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า การจัดงานในครั้งนี้ ได้มุ่งเน้นเรื่องการขยายผลการใช้หญ้าแฝกสู่ภาคประชาชน โดยเห็นได้จากผลความสำเร็จในการใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ของตนเองและชุมชน จากผลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ครั้งที่ 12  (ประจำปี 2563 – 2565) ภายใต้แนวคิด “รักษ์น้ำ ป่า ดิน ด้วยแฝกองค์ภูมินทร์ ฟื้นถิ่น ยั่งยืน” รวมทั้งการรวมตัวของเครือข่ายคนรักษ์แฝกที่ขยายผลการปลูกหญ้าแฝกอย่างกว้างขวาง

การจัดการประกวดครั้งนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานโล่รางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวด และรางวัลรองชนะเลิศและรางวัลชมเชยได้รับโล่จากองค์กรร่วมจัดพร้อมรับเกียรติบัตร โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 58 ผลงาน และมีผู้ผ่านการพิจารณารวม 25 ผลงาน ซึ่งแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ประเภทผลงาน ได้แก่ ประเภทส่งเสริมการปลูกและขยายผล  มีผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 14 ผลงาน และ ประเภทส่งเสริมหัตถกรรมผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก ซึ่งแบ่งออกเป็น ด้านความคิดสร้างสรรค์ กับ ด้านออกแบบและถ่ายทอดองค์ความรู้ผลิตภัณฑ์  มีผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 11 ผลงาน

ในกลุ่มของผู้ได้รับรางวัล ยังมีเจตนารมณ์แน่วแน่ในการถ่ายทอดงานอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยแฝกไปสู่รุ่นลูกหลาน ดังเช่นเศรษฐกิจ ชมพล บุตรชายของ พนม ชมพล ก็ได้ช่วยบิดาในการดูแลรักษาแฝก รวมถึงขยายพันธุ์แฝกให้กับเครือข่ายในพื้นที่ ได้ใช้ประโยชน์จากแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยพนมหวังว่าบุตรชายจะสืบสานงานนี้ต่อไปในอนาคต

การสร้างเครือข่ายคนรักษ์แฝก มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันโครงการเครือข่ายคนรักษ์แฝก ได้พัฒนาไปสู่รูปแบบนิติบุคคล ที่เรียกว่า “สมาคมเครือข่ายคนรักษ์แฝกประเทศไทย”  โดยมี ปตท. เป็นผู้หนุนเสริมศักยภาพด้านทักษะและสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่สมาชิกในเครือข่ายกว่า 2,703 คน

แฝกไม่เพียงแต่เป็นพืชอนุรักษ์ดินและน้ำ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับชีวิต ยังเป็นพืชที่สร้างความสมัครสมานสามัคคี สร้างเครือข่ายคนอนุรักษ์ดินและน้ำให้เติบโตก้าวหน้าต่อไปในอนาคต.