Central Regionnewsroyal projectRoyal Story

บทความเฉลิมพระเกียรติ “ปรับดินให้อุดม เพื่อสร้างสวนผลไม้คุณภาพ”

กองขี้ไก่ในโรงเรือน เป็นเทคนิคการผลิตปุ๋ยชนิดใหม่ ที่เรียกว่า ปุ๋ยหมักเติมอากาศ ที่นาวาตรีบุญส่ง เชยชม และนางระเบียบ เชยชม คู่สามีภรรยาเจ้าของสวนผลไม้แบบอินทรีย์ผสมผสานในพื้นที่ตำบลท่าหลวง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ไปเรียนรู้มาจากศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อนำองค์ความรู้มาปรับสภาพดินทราย ขาดธาตุอาหารให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืช

ระเบียบได้นำปุ๋ยเติมอากาศไปใช้กับผลไม้ในพื้นที่สวนทุเรียน มังคุดและสวนผสม จำนวน 40ไร่ 3แปลง คือที่ตำบลท่าหลวง ตำบลพลับพลา และตำบลมาบไพ จนประสบผลสำเร็จชัดเจน ให้ผลผลิตดีต่างจากสวนอื่นในละแวกใกล้เคียง ทำให้เพื่อนบ้านในกลุ่มเกษตรอินทรีย์ มาขอคำแนะนำและนำวิธีการทำปุ๋ยเติมอากาศไปใช้

การทำปุ๋ยหมักเติมอากาศ เริ่มด้วยการซื้อขี้ไก่แกลบจากเล้ามาผสมกับน้ำในอัตราส่วน ที่ความชื้น60% คือบีบแล้วมีน้ำไหลออกมาได้ โดยจะต้องคลุกเคล้าน้ำให้ทั่วถึง จากนั้นทำการเติมอากาศด้วยการใช้บาวเออร์ต่อท่อเข้าไปในกองปุ๋ย เปิดให้อากาศเข้าไปเป็นเวลา 1ชั่วโมง หยุดพัก 3ชั่วโมง วนเวียนเช่นนี้ไปตลอด24ชั่วโมงนาน 45วัน ขณะเดียวกันก็จะเติมน้ำหมักที่ไหลออกมาจากกองปุ๋ยปริมาณ 800-1000ลิตร ใส่กลับไปในกองปุ๋ยวนไป เมื่อครบ45วันก็ทำการบ่มปุ๋ยต่อนาน15วัน จะได้ปุ๋ยที่มีสีน้ำตาลดำ จากนั้นก็ตักปุ๋ยใส่กระสอบเก็บไว้เพื่อนำไปใส่ต้นไม้ตามระยะเวลา

 

สำหรับต้นทุนนั้น ระเบียบเล่าว่าได้ซื้อขี้ไก่จากจังหวัดฉะเชิงเทราคันละ 12ตันราคา18,000บาท ผลิตปุ๋ยได้10ตัน เสียค่าไฟกว่า 500บาท เมื่อได้ปุ๋ยแล้วจะนำไปใส่รอบทรงพุ่มประมาณต้นละ 1กระสอบ ปีละ3ครั้ง คือหลังเก็บเกี่ยว ช่วงสะสมอาหาร และช่วงติดลูกแล้ว2เดือน ดังนั้นปุ๋ยที่ผลิตได้จะมีเหลือบางส่วน จึงนำไปขายในราคากระสอบละ 90บาท

นอกจากนี้ยังมีน้ำขี้ไก่ที่ได้จากการหมักปุ๋ยนำมาใส่ยาคูลท์ขวดเล็ก1ขวดต่อน้ำหมัก200ลิตร ใส่ถังพักไว้15วัน โดยนำไปเสริมให้ต้นไม้ช่วงแตกใบอ่อนด้วยการรดต้นไม้ผ่านระบบสปริงเกลอร์ หรือ ใช้ระบบพ่นทางใบด้วยการใส่น้ำหมัก0.5ลิตรต่อน้ำ200ลิตร

สำหรับโครงการศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ เกิดขึ้นจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี พ.ศ. 2524 พระราชทานแก่คณะทำงานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ให้ตั้งศูนย์ศึกษาพัฒนาไม้ผลให้เป็นตัวอย่างในการประกอบอาชีพแก่ราษฎร และสร้างแหล่งน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เพื่อทำการศึกษาทดลองการเกษตร การดำเนินงานโครงการฯ จึงมุ่งเน้นเป็นจุดเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาผลผลิตไม้ผลในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ และส่งเสริมการผลิตให้สามารถจำหน่ายได้ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ในโอกาสที่พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยนางพิชญดา หัศภาค ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ กปร. และคณะ เดินทางไปติดตามการดำเนินงานโครงการศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานด้านต่างๆ

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาวิจัยต่อยอด เพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในปุ๋ยหมักให้มากขึ้น ตอบสนองความต้องการของเกษตรกร จนได้ผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีธาตุอาหารสูง โดยใช้วัตถุดิบ ที่มีปริมาณธาตุอาหารสูง เช่น มูลไก่ มูลสุกร มูลนกกระทา มูลกระบือ มูลวัว กระดูกป่น และหินฟอสเฟต ฯลฯ ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้ปุ๋ยเคมี สามารถปรับปรุงสมบัติทางกายภาพ ชีวภาพ และเคมีในดิน ให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช