Agriculture NewsEditorialnewsNorth regionroyal project

บทความ เรื่อง อุโมงค์ผันน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราหล่อเลี้ยงชาวเชียงใหม่

มุมสูงพื้นที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและทำการเกษตร ในบริเวณก่อสร้างอุโมงค์เข้า- ออก หมายเลข 2 (Adit2) งานอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด สัญญาที่ 1

จากความต้องการใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีข้อจำกัด เพราะปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในแต่ละปีมีความไม่แน่นอน มากน้อยตามปัจจัยของปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อน ทำให้บางปีประสบปัญหาน้ำน้อยไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ประมาณปีละ 137 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทาน จึงดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน

เมื่อวันที่ 13มกราคม2566 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นางสุพร ตรีนรินทร์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ กปร. คณะที่ปรึกษาฯ และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังสถานที่ก่อสร้าง อุโมงค์เข้า- ออก หมายเลข 2 (Adit2) งานอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด สัญญาที่ 1 อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการ และรับฟังบรรยายสรุปโครงการฯ

โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำช่วงที่ 1 จากลำน้ำแม่แตงไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล และก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำช่วงที่ 2 จากอ่างเก็บน้ำแม่งัดฯ ไปลงอ่างเก็บน้ำแม่กวงฯ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำแม่กวงฯ ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น อยู่ในเกณฑ์เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำด้านท้ายตลอดทั้งปี โดยปริมาณน้ำที่ผันไปจากลำน้ำแม่แตง จะเป็นปริมาณน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝน ที่มักจะก่อให้เกิดน้ำท่วมการนำน้ำส่วนเกินดังกล่าวไปใช้จึง ช่วยลดปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองเชียงใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

สำหรับอุโมงค์ส่งน้ำมีความยาวทั้งหมดประมาณ 49 กิโลเมตร โดยอุโมงค์ช่วงที่ 1 (ช่วงแม่แตง-แม่งัด) จะมีความยาวประมาณ 26 กิโลเมตร ผันน้ำได้ปีละประมาณ 113 ล้านลูกบาศก์เมตร ไปเก็บไว้ที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จากนั้นปริมาณน้ำดังกล่าวจะรวมกับปริมาณน้ำที่เกินความต้องการของเขื่อนแม่งัดฯ อีกปีละประมาณ 47 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมเป็น 160 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่งผ่านอุโมงค์ช่วงที่ 2 (ช่วงแม่งัด – แม่กวง) ที่มีความยาวประมาณ 23 กิโลเมตร ไปเติมให้กับเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทำให้เขื่อนแม่กวงฯ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์เพียงพอที่จะจัดสรรน้ำสนับสนุนพื้นที่ด้านท้ายได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี

ส่วนการแก้ไขปัญหาด้านผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ กรมชลประทานได้ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และคุณภาพชีวิต รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชุมชนที่ได้รับผลกระทบฯ

สำหรับเป้าหมายเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการฯในปี2570 จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา ได้เฉลี่ยปีละประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ ในลุ่มน้ำกวง ช่วยเพิ่มเสถียรภาพการส่งน้ำในช่วงฤดูฝนของพื้นที่ชลประทานด้านท้ายอ่างฯได้ประมาณ 175,000 ไร่ และในฤดูแล้งยังส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้มากขึ้นจากเดิม 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่ สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมได้มากขึ้นจากเดิมปีละประมาณ 13.31 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 49.99 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่สำคัญช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและลดความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงได้อีกกว่า 14,550 ไร่ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่โดยรอบโครงการฯให้มีความมั่นคงด้านน้ำ .