วันศุกร์, พฤษภาคม 17, 2024
Central RegionEditorialnewsroyal projectRoyal Story

บทความเฉลิมพระเกียรติ อ่างเก็บน้ำยางชุมสร้างชีวิตที่มั่นคง

พืชผลการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นขนุน มะม่วง สับปะรด เป็นผลผลิตที่สร้างชื่อเสียงให้กับชาวอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยผลผลิตเหล่านี้ งอกงามเติบโตขึ้นมาได้เพราะได้รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำยางชุม

ประทีป ทัศน์แก้ว ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำห้วยวังเต็ม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เล่าว่า พื้นที่อำเภอยางชุมเป็นพื้นที่สูงเมื่อฝนตกลงมาน้ำจะไหลบ่าลงท่วมพื้นที่ตอนล่างก่อนไหลลงสู่ทะเล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำยางชุม จึงช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งให้กับราษฎรได้ โดยปัจจุบันราษฎรใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำยางชุมในการทำเกษตรกรรม ทั้งปศุสัตว์ เพาะปลูกพืชจนกลายเป็นแหล่งส่งออกผลไม้ เช่น ขนุน มะม่วง สับปะรด รวมทั้งยังนำน้ำไปใช้ทำประปาหมู่บ้าน รวมทั้งได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในอาชีพเกษตรกรรม ด้วยการปลูกพืชบริโภคเหลือแบ่งปันและขายในลักษณะรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนและรายปี

การใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ดำเนินการโดยกลุ่มผู้ใช้น้ำที่จัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2533 มีสมาชิก 220 ราย เคยได้รับรางวัลสถาบันเกษตรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2543 ต่อมาจึงได้ยกระดับเป็น สหกรณ์การเกษตรชลประทานยางชุม จำกัด มีสมาชิกจำนวน 300 ราย ปัจจุบันได้จัดตั้งเป็นคณะกรรมการจัดการชลประทาน เมื่อปี 2552

ในโอกาสที่พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย นางสุพร ตรีนรินทร์ รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ได้ตรวจเยี่ยมโครงการอ่างเก็บน้ำยางชุมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 19พฤษภาคม 2566 องคมนตรีได้กล่าวให้ขวัญและกำลังใจราษฎรในการร่วมกันดูแลรักษาอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ พร้อมแนะนำให้ราษฎรปรับระบบการให้น้ำแก่พืชผลการเกษตรด้วยการใช้ระบบน้ำหยด หรือระบบสปริงเกลอร์ เพื่อให้การใช้น้ำเกิดประโยชน์สูงสุด

ทางด้านนายประภาศ โต้ตอบ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำยางชุมสร้างขึ้นในปี 2516 มีปริมาณความจุของอ่างเก็บน้ำยางชุมจำนวน 32 ล้านลูกบาศก์เมตร คลองชลประทานยาว 24 กิโลเมตร จากนั้นได้ดำเนินการเพิ่มขนาดเก็บกักน้ำตามพระราชดำริในปี 2546 ทำให้ปัจจุบันสามารถเก็บกักน้ำได้ 41.10 ล้านลูกบาศก์เมตร   เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์จาก 15,300 ไร่ เป็น 20,300 ไร่ อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับลุ่มน้ำกุยบุรี ช่วยผลักดันน้ำเค็มในคลองกุยบุรีในช่วงหน้าแล้ง และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดรวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่

จากพระราชดำริเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ในการเพิ่มปริมาณการเก็บกักของอ่างเก็บน้ำยางชุม และมีพระราชดำริเพิ่มเติมในการทำระบบกระจายน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ พิจารณาก่อสร้างฝายต้นน้ำ (Check Dam) และสร้างสระน้ำขนาดเล็กตามลำห้วยในพื้นที่เหนืออ่าง เพื่อช่วยเก็บกักน้ำ และช่วยชะลอน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วม

พระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในการสร้างอ่างเก็บน้ำยางชุม  ทำให้ปัจจุบันป่ากุยบุรีมีความชุ่มชื้นมากขึ้น ส่งผลให้ช้างป่ามีแหล่งน้ำ และยังส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ช่วยสร้างชีวิตที่มั่นคงให้กับราษฎรได้อย่างยั่งยืน.

 

บทความโดย สุวินา เอี่ยมสุทธา