HealthHealthynews

รัฐบาลรุกสร้างความเข้าใจแก่สื่อ “กัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และเศรษฐกิจ”

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน “Meet the Press :กัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และเศรษฐกิจ” โดยมี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์  พร้อมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

โดยนายอนุทิน กล่าวในโอกาสเปิดงานว่า จากรายงานกรมการแพทย์พบว่า ระยะกว่า 2 เดือนหลังจากการ “ปลดล็อกกัญชา” จำนวนผู้ป่วยที่มีภาวะพิษเฉียบพลัน จากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา มีแนวโน้มลงลดและไม่เพิ่มขึ้น ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสังคมอย่างที่มีความกังวลใจ

 

นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวกับการใช้กัญชาอย่างถูกต้อง จากการตรวจสอบพบว่าตลอดระยะเวลาสองเดือนมีประชาชนเข้าใช้งานเกือบ 45 ล้านครั้ง มีผู้ลงทะเบียนกว่า 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นการขอออกใบจดแจ้งกัญชา 900,000 ใบ และมีการออกใบจดแจ้งกัญชาจำนวน 30,000 ใบ แสดงให้เห็นว่าประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของการใช้กัญชาอย่างถูกวิธี ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้าห้องฉุกเฉินเพราะการใช้กัญชาลดลงอย่างเห็นได้ชัด รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการเข้าถึง แหล่งข้อมูล ความรู้ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก “พืชเศรษฐกิจ” ได้อย่างเต็มที่

จากสถิติที่ผ่านมาตั้งแต่พืชกัญชายังอยู่ในบัญชีสารเสพติดพบว่าสิ่งที่ทำร้ายสุขภาพคนไทยไม่ใช่กัญชา แต่เป็นยาบ้า ในปีที่แล้วผู้ป่วยเข้าบำบัดยาบ้า 79.2% ขณะที่มีผู้เสพกัญชาเข้ารับบำบัดเพียง 4.21% นั้นเพราะยาบ้าคือศัตรูตัวจริง ไม่ใช่กัญชา ซึ่งเป็นพืชที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมอาหารและการแพทย์แผนไทยมานาน และสามารถสร้างมลูค่าได้มหาศาล ถ้าเรารู้จักใช้อย่างถูกวิธี ทั้งนี้การใช้กัญชาในทางที่ผิดหรือก่อให้เกิดโทษ เป็นสิ่งที่สามารถควบคุมได้ หากผู้ใช้กัญชาเป็นเยาวชน ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนรำคาญ ไม่ขายผิดเงื่อนไขตามกฎหมาย นั้นจึงไม่ใช่ปัญหาของสังคม หากมีการกระทำความผิด เราก็มีกฎหมายดูแล โดยทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 4 ฉบับหากฝ่าฝืน มีโทษทั้งจำและปรับ เพื่อควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิด

  1. ห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะ
  2. ห้ามจำหน่ายกัญชาซึ่งเป็นพืชสมุนไพรควบคุม ให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และ สตรีให้นมบุตร
  3. ห้ามใช้ช่อดอกปรุงอาหาร
  4. ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ใส่กัญชา ต้องติดป้ายแสดงสัญลักษณ์ และให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค

ตลอดเวลา 2 ปี มีการผลักดันให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมากกว่า 200 แห่ง มี “คลินิกกัญชาทางการแพทย์” เพื่อให้ประชาชนได้รับยากัญชาที่มีคุณภาพและปลอดภัย ทั้งจากแพทย์แผนปัจจุบัน และ แพทย์แผนไทยซึ่งได้รับการบรรจุยากัญชาแผนไทยให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ นโยบายกัญชาทางการแพทย์ เป็นประโยชน์และเป็นทางเลือกในการรักษาให้ประชาชน พร้อมทั้งสามารถลดการนำเข้ายาเคมีจากต่างประเทศได้

ทั้งนี้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคต เพราะมีความต้องการมากทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก ล่าสุด ณ เดือนเมษายน 2565 ประเทศไทย มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 7,500 ไร่ มีมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรม ตั้งแต่ตันน้ำ ถึงผลิตภัณฑ์ ปลายน้ำ รวมกว่า 28,000 ล้านบาท  โดยนโยบายกัญชาเสรีจะช่วยเปิดทางให้กัญชา และ กัญชงของไทย สามารถออกไปช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดโลก มูลค่ากว่า 1.039 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 3.53 ล้านล้านบาท)

ขณะที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … กล่าวชี้แจงความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …  ว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ประชุมมาแล้ว 13 ครั้ง ล่าสุดคือวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้เปิดรับฟังความเห็นจากทั้งภาควิชาการที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการใช้กัญชา ภาคนันทนาการ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ภาคสังคม และภาคทางการแพทย์  เพื่อให้กฎหมายรอบคอบ  อย่างไีก็ตาม อย.ไทยมีมาตรฐานเข้มมากในการควบคุมกำหนดสิ่งที่ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภคจากพืชและสัตว์ และกำหนดว่า “ดอกกัญชา” ใช้ปรุงอาหารไม่ได้ มีโทษจำคุก จึงแสดงว่ามีการควบคุมช่อดอกโดยไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.กัญชากัญชงอยู่แล้ว โดยวันที่ 19 สิงหาคมนี้ กรรมาธิการจะพิจารณาช่วงเปลี่ยนผ่าน ผู้ที่จดแจ้งเกิน เช่น ปลูกเกินใช้ในบ้าน และกำลังรอกฎหมายฉบับใหม่ ผู้ที่จดแจ้งจะได้รับสิทธิคุ้มครองไปจนกว่าจะหมดรอบการปลูก ส่วนผู้ที่ปลูกแล้วไม่จดแจ้งขอให้รีบจดแจ้งเพื่อรักษาสิทธิตัวเอง จากนี้หน้าที่ กมธ.จะเหลือแค่ร่างหมวดบทเฉพาะกาล สัปดาห์หน้าให้ผู้สงวนแปรญัตติของ ส.ส.มีโอกาสเข้ามาชี้แจงทำความเข้าใจและเสนอเข้าที่ประชุม ส.ส. ส.ว.ต่อไป

จากนั้นมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดจากเหล่านักวิชาการจาก 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สถาบันกัญชาทางการแพทย์ และกรมอนามัย ในห้อข้อ “ปลดล็อกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และเศรษฐกิจ” โดยศ.นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ เห็นว่ากัญชาและกัญชงเป็นสมุนไพรที่สกัดสาร THC กับCVDมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการรักษาเสริมจากการรักษาตามาตรฐานการรักษาทางแผนปัจจุบัน เช่น การช่วยให้ผู้ป่วยนอนหลับ หรือกินได้ ซึ่งเป็นการเสริมคุณภาพชีวิตจากการรักษาตามปกติ จึงอยากให้เข้าใจว่ากัญชามีคุณประโยชน์แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ใช้ให้เหมาะกับคนกับที่และเวลา

ทางด้าน นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ ที่ผ่านมามีการใช้กัญชาแบบผิดกฎหมาย คนไข้เข้าถึงกัญชาผ่านมาทางใต้ดิน ซึ่งกัญชาเหล่านั้นมักจะมีสารพิษตกค้างและส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ ดังนั้นการ “ปลดล็อกกัญชา”จึงเป็นการเข้ามากำกับดูแลการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างถูกต้อง และผู้ป่วยไม่ต้องเสี่ยงกับสารพิษตกค้าง จึงขอให้มองในแง่การใช้สมุนไพร และจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่เภสัชกรหญิงกรพินธุ์ ณ ระนอง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่ากัญชาเป็นพืชที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 เนื่องจากมีสารเสพติด อย่างไรก็ตามการปลดล็อกกัญชาและมีกฎหมายควบคุมฉบับใหม่ การผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจะต้องดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย มีมาตรฐานปลอดภัย และนับเป็นโอกาสที่พืชสมุนไพรชนิดนี้ที่มีใช้ในตำรับยามานานตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จะนำไปต่อยอดในการรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย รวมถึงพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ภายใต้แพทย์แผนปัจจุบัน ถ้าสามารถทำผลิตภัณฑ์ออกมาได้ถูกต้องตามมาตรฐานก็จะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจได้

และนางสาวสกุณา คุณวโรตม์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมาย กองกฎหมาย กรมอนามัย กล่าวว่าการนำกัญชามาปรุงอาหารนั้นมีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว ในเบื้องต้นได้กำหนดให้ร้านค้าที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม ต้องติดป้ายระบุให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคทราบ อีกทั้งมองว่ากัญชาจะเกิดประโยชน์อย่างมาก ถ้ามีการใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม ถูกกฎหมาย โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลด้วย .