องคมนตรี ติดตาม ตรวจเยี่ยมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เป็นวันที่สอง
วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.30 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วย นายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตาจูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อติดตามตรวจเยี่ยมโครงการฯ โดยรับฟังสรุปผลการดำเนินงานการบริหารจัดการน้ำของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตาจูฯ จากผู้แทนกรมชลประทาน โอกาสนี้ มอบพันธุ์ปลาแก่ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ พร้อมพบปะราษฎร เยี่ยมชมสภาพพื้นที่โครงการฯ และร่วมปล่อยพันธุ์ปลาลงอ่างเก็บน้ำเพื่อแพร่ขยายพันธุ์เป็นแหล่งอาหารโปรตีนให้แก่ราษฎร ต่อไป
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตาจูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริไว้เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2529 เพื่อเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนการทำการเกษตรให้แก่ราษฎรในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา ในเขตอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตาจูฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2538 สามารถส่งน้ำให้ราษฎรสำหรับอุปโภคบริโภค และพื้นที่การเกษตร ในช่วงฤดูฝน 13,000 ไร่ และช่วงหน้าแล้ง 11,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลกันทรอม ตำบลโนนสูง และตำบลห้วยจันทร์
ปัจจุบันมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำประเภทกลุ่มบริหาร จำนวน 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา และกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย มีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 309 คน อาสาสมัครชลประทาน จำนวน 5 คน จากการทำงานเป็นทีมของโครงการชลประทานศรีสะเกษ โดยมีเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วม ประกอบกับกลุ่มผู้ใช้น้ำมีความเข้มแข็ง ทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากการเข้าประกวด และแข่งขันในระดับกรมชลประทานที่มีโครงการชลประทานทุกจังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งขันในปี 2559 ซึ่งสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ข้าราชการของโครงการชลประทานศรีสะเกษ และกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ปฏิบัติงานในท้องถิ่น นอกจากนี้โครงการชลประทานศรีสะเกษได้มีแผนงานด้านการต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในด้านต่าง ๆ เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จากนั้น องคมนตรีและคณะฯ เดินไปทางไปยังบ้านนายไพโรจน์ มีวงศ์ หมู่ที่ 8 ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย เดิมประกอบอาชีพล้างจานที่กรุงเทพฯ ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพ่อครัวในโรงแรมรวมระยะเวลา 15 ปี จากนั้นได้ไปทำงานต่อที่ประเทศจีนเป็นเวลา 2 ปี พอมีเงินเก็บเป็นทุนในการสร้างบ้าน จึงหวนกลับมาบ้านเพื่อทำการเกษตรเมื่อปี 2554 โดยทำนาและปลูกยางพารา และกล้วยบริเวณคันนา อาศัยน้ำจากริมห้วยแต่เนื่องจากบริเวณริมห้วยเก็บน้ำไม่อยู่ ดังนั้นจึงคิดหาวิธีทำเกษตรใหม่ ในปี 2557 พอมีทุนจึงทำการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาจากเดิมทำนาทั้งหมดมาเป็นปลูกไม้ผล ประกอบกับเข้าไปศึกษาดูงานจากโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จากนั้นในปี 2558 สำนักงานส่งเสริมการเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ สังกัดสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 7 นครราชสีมา ส่งไปศึกษาดูงาน ณ เมืองดาว์วิน ประเทศออสเตรเลีย เกี่ยวกับการปลูกไม้ผลแปลงใหญ่ ระยะเวลา 1 สัปดาห์ ในปี 2560 จึงได้เริ่มทำการเกษตรผสมผสาน โดยแบ่งพื้นที่ทั้งหมดที่มีจำนวน 12 ไร่ แบ่งเป็นทำนา 3 ไร่ สระน้ำ 3 ไร่ ไม้ผลทุเรียน 1 ไร่ มะม่วง 3 ไร่ อีก 2 ไร่ปลูกยางนา ไผ่มะฮอกกานี และพยุง นอกจากนี้ยังเลี้ยงโค กระบือ ไก่พื้นบ้าน และเป็ดไข่ ทำให้มีรายได้ต่อเนื่องจากการทำเกษตรผสมผสานต่อปี ได้แก่ ยางพารา 20,000 บาท การประมง 30,000 บาท โค/กระบือ 30,000 บาท และพืชผักไม้ผล 20,000 บาท
โอกาสนี้องคมนตรีมอบปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรต้นแบบ และเยี่ยมชมบูธผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้
ขอบคุณกองประชาสัมพันธ์
สำนักงานกปร.