EditorialnewsRoyal Story

บทความพิเศษ วิจัยเพิ่มมูลค่าไม้ตัดดอก ส่งเสริมอาชีพให้กับคนไทย

แกลดิโอลัส ไม้ตัดดอกที่มีความงดงาม หลากสีสันเนื่องจากมีการนำมาปลูกในประเทศไทยนานกว่า30ปี และได้รับความนิยมเป็นไม้ปักแจกัน หรือประดับตกแต่งสถานที่เพื่อความสวยงาม

ศรีลา ปาฬี เป็นเกษตรกรผู้หนึ่งที่ปลูกแกลดิโอลัสมาตั้งแต่ปี 2538 และเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ผลิตไม้ดอกแม่วาง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ โดยศรีลาเล่าว่า ได้ปลูกแกลดิโอลัสไปพร้อมๆกับการทำธุรกิจรับซื้อดอกแกลดิโอลัสจากเกษตรกรบ้านสันเตี๊ยะ จากปริมาณน้อยและค่อยๆเพิ่มปริมาณการรับซื้อมากขึ้น จนปัจจุบันรับซื้อจากเกษตรกรในพื้นที่อำเภอจอมทองช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกุมภาพันธ์ ส่วนพื้นที่บนดอย อำเภอแม่วางได้เข้ารับซื้อช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เพื่อนำไปขายที่ปากคลองตลาด ตลาดไท และตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี

ราคาดอกไม้ที่รับซื้อนั้นขึ้นกับคุณภาพของดอก คืออยู่ที่ 20-28บาทต่อ10ช่อดอก และปริมาณดอกที่มีการรับซื้อสูงสุดประมาณ 8,000-9,000ช่อต่อวัน มีการจ่ายเงินสดให้กับเกษตรกรลูกไร่ทุก 5-7วัน จึงต้องมีเงินสดหมุนเวียนประมาณ 4-5ล้านบาท โดยปัญหาและอุปสรรคที่พบมีเพียงดอกไหม้เพราะอากาศร้อนในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน และดอกที่ปลูกบนดอยจะเหี่ยวไวกว่าดอกที่ปลูกบนพื้นที่ราบ

ทั้งนี้กลุ่มผู้ผลิตไม้ดอกแม่วาง ได้รับการส่งเสริมเมล็ดพันธุ์แกลดิโอลัสสายพันธุ์ใหม่ และปุ๋ยบำรุงดินจาก ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาตั้งแต่ประมาณปี 2560 ทำให้สามารถผลิตดอกแกลดิโอลัสที่มีความสวยงามและแข็งแรงอย่างต่อเนื่อง

ศ.ดร. โสระยา ร่วมรังษี ผู้อำนวยการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่าศูนย์ทำหน้าที่วิจัยและส่งเสริมให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ไปสร้างอาชีพ ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา โดยช่วงแรกเน้นงานด้านไม้ดอกและไม้ผลอายุสั้น ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ยากไร้ได้มีอาชีพทำกิน เช่น ส่งเสริมการปลูกมะม่วงมหาชนกให้ชาวกาฬสินธุ์ แต่ช่วงแรกขายมะม่วงไม่ได้เพราะคนไม่รู้จัก ปัจจุบันสามารถส่งออกไปญี่ปุ่นได้มีรายได้ปีละ8-10ล้านบาท ส่วนการส่งเสริมการปลูกไม้ดอกนั้นทำได้ในกลุ่มเล็กที่มีใจรักทั่วประเทศ และจากประสบการณ์ดูงานต่างประเทศพบว่าไม้ดอกไทยนั้นมีศักยภาพมาก

ศ.ดร. โสระยา กล่าวด้วยว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย ที่ต้องรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่ควรอนุรักษ์พืชอย่างเดียว ควรนำมาพัฒนาแล้วส่งเสริมทางการค้าต่อไป

ปัจจุบันศูนย์ฯ ได้ยื่นขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ที่กรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ปี 2553-2565 แล้วทั้งสิ้น 83ชนิด แบ่งเป็นพืชกลุ่มปทุมมากระเจียว 46ชนิด แกลดิโอลัส 23ชนิด ว่านสี่ทิศ 4 ชนิด และบานชื่น 10 ชนิด

ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  อ.หางดง  จ.เชียงใหม่ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2523 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน 80,000 บาท ให้ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อนำไปเริ่มงานทดลองขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลในหมู่บ้านที่บ้านไร่ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านแหวน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ การดำเนินงานในปีแรกได้ใช้พระราชทรัพย์ไปเพียง 40,000 บาท และประสบผลดี จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพิ่มเพื่อจัดตั้งเป็น “กองทุนหมุนเวียน” รวม 300,000 บาท

โดยศูนย์ฯได้มีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ กระทั่งในปี พ.ศ.2537สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( สำนักงาน กปร. ) ได้จัดให้ศูนย์ฯบ้านไร่ เป็น1ใน5 ศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ.

บทโดย สุวินา เอี่ยมสุทธา